Thursday, October 12, 2006

การตีความพระไตรปิฎก

การตีความพระไตรปิฎก
เสฐียรพงษ์ วรรณปก

ผมได้รับเชิญไปร่วมอภิปรายในการสัมมนาทางวิชาการด้านพระพุทธศาสนาและพุทธปรัชญา ที่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรนครปฐม เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2549 ที่ผ่านมา ตามปกติไม่ค่อยรับไปพูดในทำนองนี้บ่อย เหมือนสมัยยังหนุ่มแน่น ในยุคที่ "สิงห์สัมมนา" กำลังเฟื่อง สิงห์สัมมนาดังๆ ฝีปากคมคาย สมัยโน้น ก็ร่วงไปแทบหมดแล้ว อาทิ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ดร. เอกวิทย์ ณ ถลาง (ประทานโทษ อาจารย์ ยังอยู่ครับ) ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ดร.แถมสุข นุ่มนนท์ เป็นต้น ล้วนรุ่นเฮฟวี่เวททั้งนั้น ผมเป็นเด็ก มีสัมมนาที่ไหน คณบดีก็เมตตาส่งให้ไปนั่งฟัง (ฟังอย่างเดียว) กว่าจะกล้าพูดได้ ท่านเหล่านั้น "แขวนนวม" เกือบหมดแล้ว
รู้สึกว่ายุคนี้ สัมมนาทางวิชาการที่เป็นเนื้อเป็นหนังไม่ค่อยจะเฟื่องเหมือนสมัยก่อน หรืออย่างไร ผมเองก็ "แขวนนวม" ไปแล้วเช่นกัน ไม่จำเป็นจริงๆ ไม่ "รับนิมนต์" เพราะปัญหาเรื่องสุขภาพ
วันนั้นเราพูดกันเรื่องการตีความพระไตรปิฎก มีธัมมนันทา ภิกษุณี (ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์) ดร.สมภาร พรหมทา และผม มี ดร.สำเนียง เลื่อมใส เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย เวลาค่อนข้างจำกัด ท่านธัมมนันทา และอาจารย์สมภาร ดูจะมีประเด็นเสนอมากมาย แต่เนื่องจากเวลาไม่มี จึงได้รับฟังไม่เต็มที่ เวลาส่วนหนึ่งเสียไปกับ การ แนะนำคุณภาพของคนพูด ไม่รู้จะแนะนำไปทำไมมากมาย คุณภาพ "คับแก้ว" ทั้งหลายแหล่ น่าจะพิมพ์เอกสารแจกที่ประชุม ให้ไปอ่านเอง ว่าคนไหนบรรลุธรรมขั้นไหนแล้ว!
ตามปกติเวลาชั่วโมงครึ่ง พูดคนเดียวก็ไม่พออยู่แล้ว นี่ตั้งสามคน สี่กับผู้ดำเนินการอภิปราย (ซึ่งโดยหน้าที่เขาไม่ให้พูดมากอยู่แล้ว) ท่านอื่นเสนออะไร เข้าใจว่าเขาอาจมีเอกสารตามมา ควรหาอ่านเอาได้
อ้อ น่าชมอย่างที่สัมมนาคราวนี้ มีเอกสารทางวิชาการแจก 6 เรื่องดีๆ ทั้งนั้น คือ วิพากษ์ทฤษฎีการตีความพระไตรปิฎกของเมตตานันโทภิกขุ ในหนังสือ "เหตุเกิด พ.ศ.1" โดย ปกรณ์ สิงห์สุริยา สตรีนิยม ผลกระทบต่อพระพุทธศาสนา โดย มนตรี สืบด้วง พระพุทธศาสนากับรัฐชาติสมัยใหม่ โดย นภานาถ อนุพงศ์พิพัฒน์ รัฐไทยกับการศึกษาวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียน โดย ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ จากบรรณาธิการ วารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานะของพระไตรปิฎก รายงานพิเศษ การต่อสู้ของชาวมุสลิมเพื่อความอยู่รอดใน "ไทยภาคใต้" อ่านเอกสารเหล่านี้จบ ก็ได้บรรลุไปหนึ่งขั้นแล้วครับ
ผมเสนอข้อคิด ความจริงคำถามว่า การตีความหมายเอาแค่ไหน พระไตรปิฎกควรตีความหรือไม่ ถ้าหมายเอาการให้คำจำกัดความ การอธิบาย หรือการแปลความหมาย ดังงานเขียนของพระอรรถกถาจารย์ พระฎีกาจารย์ พระอนุฎีกาจารย์ หรือกระทั่งอาจริยมติ ก็ตีความได้
แต่การตีความคงไม่ใช่ใครอยากจะตีทางไหนอย่างไร ก็ทำได้ตามสบาย เพราะอาจเข้ารกเข้าพงได้ง่าย หรือไปๆ คนตีความจะกลายเป็นฤๅษีไปโดยไม่รู้ตัว หรือฤๅษีอะไร อ้าว "ฤๅษีแปลงสาร" นั่นไง
อาจารย์สมภารอ้างพระพรหมคุณาภรณ์ (ปยุตฺโต) ว่า ผู้ตีความจะต้องมีคุณธรรมอย่างน้อยสองข้อ คือ (1) ต้องรู้ลึกรู้รอบ และ 2 ต้องซื่อสัตย์ รู้ลึกคงหมายถึงอ่านพระไตรปิฎกจนทะลุปรุโปร่ง ทุกแง่ทุกมุม อย่างที่เรียกว่าเป็น "พหูสูต" ยกอะไรตรงไหนมา ก็ต้องยกมาให้ครบ ไม่ใช่จับเอาเพียงชิ้นส่วนมา ซึ่งไม่เห็นภาพรวม ส่วนข้อซื่อสัตย์ ผู้ตีความจะต้องซื่อสัตย์ต่อพระไตรปิฎก ต่อพระพุทธเจ้า อ้างข้อความจากพระไตรปิฎกก็ต้องอ้างครบถ้อยกระทงความ ถ้าจะใส่ความคิดเห็นของตนเอง ก็ต้องบอกว่า ตรงนี้เป็นความคิดเห็นของตน ไม่ใช่เอามาปนกัน ให้ผู้อ่านผู้ฟังสับสน
อาจารย์สมภารยกตัวอย่างการตีความของเมตตานันโท ในทรรศนะของหลวงพ่อปยุตฺโต ว่าเป็นงานของผู้รู้ไม่ลึก รู้ไม่รอบ และไม่ซื่อสัตย์ เสียดายว่า หลวงพ่อเมตตาฯ ท่านออกไปฉันเพลอยู่ จึงไม่ได้ฟัง
ตรงนี้โบราณท่านก็ให้แนวไว้เหมือนกัน ดูเหมือนท่านจะถือกันเคร่งครัด ใน วิสุทธิมรรค ตอนว่าด้วยปัญญานิเทศ พระพุทธโฆสาจารย์ ท่านให้แนวไว้ว่า ผู้แต่ง ผู้แปล หรือผู้ตีความ พระไตรปิฎก จะต้องยึดหลัก 10 ประการ คือ
ต้องก้าวลงสู่แวดวงวิภัชชวาที แปลตามตัวอักษรก็คือต้องแจกแจง แยกแยะ วิเคราะห์ให้ชัดเจน ไม่ใช่รีบสรุปในแง่ใดแง่หนึ่ง ผู้แต่งท่านสังกัดนิกายเถรวาท ซึ่งเป็นฝ่ายวิภัชชวาที คำนี้จึงจำกัดวงว่า ต้องอธิบายหรือตีความตามแนวของเถรวาทเท่านั้น
ต้องไม่กล่าวตู่ครูบาอาจารย์ ตั้งแต่ปฐมสังคายนาเป็นต้นมา ให้ยึดมติของครูบาอาจารย์เหล่านั้น ถึงจะมีความคิดเห็นใหม่ไม่ตรงกับของโบราณ ก็ยกของโบราณมาเป็นที่อ้างอิง แล้วก็แสดงทรรศนะของตนไป ดูเหมือนพระพุทธโฆสาจารย์ท่านทำเป็นตัวอย่าง ท่านจะยกมติของโบราณาจารย์มาแล้ว ท่านก็เสนอของท่านเอง แล้วตบท้ายว่า "ผู้ศึกษาพึงพิจารณาเทอญ"
ต้องไม่ทิ้งสกสมัย คือลัทธิความเชื่อถือของตน คล้ายกับว่าต้องมีจุดยืนที่วาทะของตน สำนักของตน ลัทธิศาสนาของตน
ต้องไม่ล่วงล้ำปรสมัย คือความเชื่อของฝ่ายอื่น อันนี้เป็นมารยาทที่งาม ไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์ลัทธิอื่นอย่างเสียๆ หายๆ แต่อย่างว่า พระพุทธโฆสเจ้าตำรับเอง เวลาพูดถึงพวกที่ต่อต้านพระอภิธรรม ก็ใช้วาทะรุนแรง เรียกว่าสาปแช่งเอาเลย
ต้องไม่ปฏิเสธพระสูตร
ต้องตีความอนุโลมตามพระวินัย
ต้องแสดงหลักธรรม หรือแสดงออกถึงความเที่ยงธรรม
ต้องให้เข้าได้กับมหาปเทส (ข้ออ้างใหญ่ ทั้งมหาปเทสในทางธรรม และมหาปเทสทางพระวินัย)
ต้องเก่งในทางสังเคราะห์เนื้อหา
้องอธิบายความหมายซ้ำโดยปริยายอื่นอีก เพื่อให้แจ่มแจ้ง เข้าใจง่าย
ผมยกหลักการตีความแล้วก็เสนอมติของตน 3-4 ข้อ แต่ไม่มีเวลาอธิบาย เพราะอาจารย์สำเนียงแกกระซิบว่าหมดเวลาแล้ว ดีนะผมไม่ใช่หลวงพ่อปัญญา หลวงพ่อปัญญา ถ้าท่านยังไม่จบประเด็น ต่อให้เขียนโน้ตเตือนแล้วเตือนอีก ท่านไม่สน จน "อาหม่อม" (ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์) ของผมบอกว่า เข็ดแล้ว ไม่เข็ดได้ยังไง ท่านนอกจากไม่สนแล้ว ยังเบรกกลางที่ประชุมด้วย "เดี๋ยวนี้ หม่อมถนัดศรี มีโน้ตว่าหมดเวลาแล้ว แต่อาตมายังพูดไม่จบเลย จะหยุดได้อย่างไร อย่ากระนั้นเลย อาตมาขอพูดไปจนจบก็แล้วกัน"
ตกลงผู้ร่วมอภิปรายสองสามคน ได้แต่นั่งฟังหลวงพ่อเทศน์ ไม่ได้พูดสักแอะ จบแล้วก็รับ "กัณฑ์เทศน์" เท่ากันแหละ ไม่ต้องเปลืองแรง (ฮา)
ผมว่าในพระไตรปิฎก ประเด็นที่ชัดเจนแล้ว พระพุทธเจ้าทรงอธิบายไว้แล้วในรูปพุทธพจน์ เช่นเรื่องพระนิพพาน อริยสัจ มรรคมีองค์แปด เหล่านี้ไม่ต้องตีความ การตีความว่าพระนิพพานเป็นอัตตาหรือไม่เป็นอัตตา ดังบางคนพูดนั้น ตีความไปทำไม พระพุทธเจ้าท่านตีความไว้แล้ว (ถ้าจะใช้คำนี้) เมื่อเจ้าของท่านตีความไว้ว่าหมายถึงอย่างนี้ นิพพานเป็นอนัตตา อย่างนี้แล้ว เราจะมาตีความให้ต่างจากท่านได้อย่างไร บางท่าน "แทงกั๊ก" เพื่อให้เก๋ว่า "พระนิพพานไม่เป็นอัตตา และไม่เป็นอนัตตา" มิน่าล่ะ ผู้บรรลุนิพพานของท่านจึงกะเตะปากชาวบ้านได้!
แต่ถ้าตีความให้สอดคล้องกับหลักการใหญ่ เป็นการเสริมให้ชัดเจนสำหรับคนร่วมสมัยเช่น
ที่ท่านพุทธทาสตีความว่า "ถ้าทำจิตให้ว่างจากตัวกู (อหังการ) ของกู (มมังการ) ได้ชั่วครู่ ก็ถือว่าบรรลุนิพพานชั่วคราว หรือนิพพานชิมลองแล้ว" อย่างนี้ทำได้ เพราะสอดคล้องกับหลักการของพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้ายังตรัสว่า เสขบุคคล ก็บรรลุพระนิพพานเหมือนกัน ทั้งๆ ที่ท่านเหล่านั้นยังไม่หมดกิเลส เช่นพระโสดาบันก็บรรลุขั้นหนึ่ง พระสกทาคามีก็ขั้นหนึ่ง พระอนาคามีก็อีกขั้นหนึ่ง จนกระทั่งเป็นพระอรหันต์จึงเรียกว่า บรรลุพระนิพพานเต็มที่สมบูรณ์
แต่ถ้าตีความเอาเฉพาะประเด็นที่ตนต้องการก็ไม่สมควร เพราะจะทำให้ผู้อ่านผู้ฟังไขว้เขว ก็ต้องเอ่ยอาจารย์หลวงพ่อพุทธทาสอีกแหละ ท่านอธิบาย ปฏิจจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตา ว่าเป็นกระบวนการชั่วขณะจิต เกิดแล้ววิ่งปรู๊ดจนถึงที่สุดในชั่วขณะจิตเดียว เช่นตาเห็นรูปสวยๆ ก็เกิดเวทนา ตัณหา อุปาทานเรื่อยไป รวดเร็วมาก สติตามไม่ทัน หยุดไม่ทันก็วิ่งถึงที่สุด เกิดทุกข์ขึ้นมาทันที
หลวงพ่อท่านว่า ไม่มีดอกที่ขบวนการอิทัปปัจจยตาต้องคร่อมภพคร่อมชาติ เกิดตายจนสามชาติจึงครบกระบวนการ อย่างนี้มันปฏิบัติไม่ได้ ดับทุกข์ไม่ได้ อย่างนี้เป็นการอธิบายของพระพุทธโฆสาจารย์ ท่านเป็นพราหมณ์มาก่อน ไปเอาความคิดของพราหมณ์มา
อ้าว ไปๆ มาๆ พระพุทธโฆสาจารย์กลายเป็นจำเลยไปเลย ทั้งที่พระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงอิทัปปัจจยตาไว้ทั้งสองนัย นัยชั่วขณะจิตก็มี นัยคร่อมภพคร่อมชาติก็มี
เมื่อสนใจเฉพาะนัยชั่วขณะจิต เวลารวบรวม ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ ท่านก็ตัดพระสูตรที่พูดถึงการเกิด การตาย ที่เป็นการเกิดจากท้องแม่จริง ตายด้วยการดับขันธ์จริง ทิ้งหมด เอาเฉพาะนัยที่ท่านต้องการ
พระพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ก็เช่นกัน เมื่อรวบรวมพุทธพจน์ที่ตรัสเล่าเรื่องราวของพระองค์แก่พระสาวกทั้งหลาย ท่านนำมาหมด พอถึงตอนประสูติ ที่ว่าเดินได้เจ็ดก้าว เปล่งอาสภิวาจาอะไรทำนองนี้ ท่านตัดออกหมด
อย่างนี้หรือเปล่าที่หลวงพ่อปยุตฺโตท่านว่า ผู้แปลหรือตีความพระไตรปิฎก นอกจากจะรู้ลึกรู้รอบเป็นพหูสูตแล้ว ยังต้องซื่อตรงต่อพระไตรปิฎกด้วย สิ่งที่หลวงพ่อพุทธทาสน่าจะทำ (ซึ่งทำในประเด็นอื่นหลายแห่งเช่นเรื่อง สูกรมัททวะ เป็นต้น) ก็คือ ยกพุทธวจนะมาทั้งหมด แล้วแสดงทรรศนะส่วนตนว่า น่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จะสวยมากทีเดียว
ส่วนหลวงแม่ธัมมนันทา เนื่องจากมีกระแสต่อต้านเรื่องภิกษุมากในประเทศนี้ ท่านจึงตีความเรื่องภิกษุณีตามมหาโคตมีสูตรไว้น่าฟังทีเดียว ผู้อ่านไม่ได้ฟัง ก็ต้องหาเอกสาร ซึ่งเขาอาจทำภายหลังมาศึกษาแล้วกัน
ผมเองก็มีประเด็นเรื่องภิกษุณีจะพูด แต่เวลาไม่อำนวย ถ้ามีเวลาจะนำมาพูดภายหลัง
ต้องขอบคุณผู้จัดสัมมนา ที่เลือกเรื่องน่ารู้มาอภิปรายกัน แม้จะอยู่ในแวดวงแคบๆ (ซึ่งเป็นธรรมดาของเรื่องทางวิชาการ) ผู้ฟังที่นับตัวได้ ก็อาจนำไปต่อยอดในภายหลัง
ถ้าจัดตามเทรนด์เช่นเรื่อง เจ้าชายผู้ทรงเสน่ห์ จิ๊กมี วังชุก คงจะมีนักศึกษาสาวๆ กรี๊ดกร๊าดเต็มห้องประชุมทีเดียว
ที่มา : นสพ. นสพ.มติชน 20 ส.ค.49

No comments: