Thursday, October 12, 2006

วิสาขบูชา

''วิสาขบูชา'' ศาสตราจารย์พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ (2547)
วิสาขบูชา เป็นวันที่สำคัญที่สุดวันหนึ่งในทางพระพุทธศาสนาเพราะ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ซึ่งบังเอิญมาตรงกัน คือวัน ๑๕ ค่ำ เดือนวิสาขะ (เดือน ๖) ซึ่งบาลีเรียกว่า "วิสาขะ"พุทธศาสนิกชนทั่วโลกจะจัดให้มีพิธีวิสาขบูชา เป็นพิเศษ โดยเฉพาะในประเทศศรีลังกาจะจัดงานฉลองวันวิสาขบูชายิ่งใหญ่กว่าทุกประเทศ มีการ ประดับโคมไฟทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองโคลัมโบ ความเป็นมาของวันวิสาขบูชา มีดังนี้
เมื่อก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี ในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ณ สวนลุมพินีวัน ซึ่งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์กับเมืองเทวทหะต่อกัน พระนางสิริมหามายามเหสีของ พระเจ้า สุทโธทนะ ได้ประสูติพระโอรสพระองค์หนึ่ง ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับการขนานพระนามว่า "สิทธัตถะ"เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงเจริญวัยจนมีพระชนม์ ๑๖ พรรษาแล้ว ก็ได้เสด็จเข้าสู่ พระราชพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงยโสธรา หรือพิมพา และทรงเสวยสุขอยู่จน พระชนม์ ๒๙ พรรษาก็ทรงมีพระโอรสองค์หนึ่ง พระนามว่า "ราหุล"
เจ้าชายสิทธัตถะได้พิจารณาเห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกของชีวิตทรงเห็นว่า ไม่มีอะไรที่เป็นสาระแก่นสารเลย ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทำให้พระองค์ทรง เบื่อหน่ายในโลกียสุข จึงได้เสด็จออกบวช โดยได้เสด็จไปศึกษายังสำนักอาจารย์ต่าง ๆ อยู่หลายปี แต่ก็ไม่ทรงบรรลุผลสำเร็จ ในที่สุดพระองค์ก็ทรงหลีกไปแสวงหาทางตรัสรู้ด้วยพระองค์เองจนกระทั่ง พระชนม์ได้ ๓๕ พรรษา ในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี เจ้าชายสิทธัตถะก็ได้ตรัสรู้ อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาหลังจากที่พระองค์ ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วก็ทรงใช้เวลาทั้งหมดที่มีอยู่ออกประกาศศาสนา ให้แพร่ไปทั่ว ชมพูทวีป พระองค์ทรงสอนมุ่งให้ประชาชนตั้งอยู่ในความสงบ ขยันขันแข็งในการ ทำมาหากินในทางสุจริต ฯลฯ เป็นเวลาถึง ๔๕ ปี ทรงสามารถวางรากฐานพระพุทธ-ศาสนา ได้อย่างมั่นคงทั่วประเทศอินเดีย จนกระทั่งมีพระชนม์ได้ ๘๐ พรรษา ก็ทรงดับขันธปรินิพพาน ที่ระหว่างต้นสาละคู่ แขวงเมืองกุสินารา ในวัน เพ็ญเดือนวิสาขะเช่นกัน
โดยเหตุที่เหตุการณ์ที่สำคัญในชีวิตของพระพุทธเจ้า ๓ ครั้ง คือ วันประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพาน ได้มาประจวบในวันเดียวกันเช่นนี้ จึงนับว่าเป็นความมหัศจรรย์ยิ่ง เมื่อถึงวันสำคัญเช่นนี้ พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจึงได้พร้อมใจกันบูชาพระองค์ ฉะนั้นวันนี้จึงเรียว่า วันวิสาขบูชาพิธีวิสาขบูชาไม่อาจทราบได้ว่าเป็นพิธีที่นิยมกันมาแต่ครั้งใดปรากฏแต่ในคัมภีร์ มหาวงศ์ พงศาวดารลังกาว่า สมัยเมื่อพระพุทธศาสนารุ่งเรืองอยู่ในลังกาทวีปราวพุทธศักราช ๔๒๐ พระเจ้าแผ่นดินในช่วงนี้ล้วนเป็นเอกอัครศาสนู ปถัมภกที่ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาตลอดมา ปรากฏพระนามที่ทรงทำพระราชพิธีวิสาขบูชาประจำปีเป็นการใหญ่หลายพระองค์ เช่น พระเจ้าภาติกราช
ส่วนในประเทศไทย ประชาชนจะประกอบพิธีบูชาในวันเช่นนี้มาแต่เดิมหรือไม่ ไม่ปรากฏชัดในที่ใด จนถึงสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี จึงได้ความตามหนังสือที่นางนพมาศ แต่งไว้ว่า
"ครั้นถึงวันวิสาขบูชาพุทธศาสน์ สมเด็จ พระเจ้าแผ่นดิน และพระราชวังข้างหน้า ข้างใน จวนตำแหน่งท้าวพระยา พระหลวง เศรษฐี ชี พราหมณ์ บ้านเรือน โรงร้านพ่วงแพชน ประชาชายหญิง ล้วนแต่แขวนโคมประทีปชวาลาสว่างไสวห้อยพวงบุปผชาติประพรมเครื่องสุคนธรส อุทิศบูชาพระรัตนตรัยสิ้นสามทิวาราตรี มหาชนชวนกันรักษาอุโบสถศีล สดับฟัง พระสัทธรรมเทศนา บูชาธรรม บ้างก็ถวายสลากภัตตาหารสังฆทานข้าวบิณฑ์ บ้างก็ยกขึ้น ซึ่งธงผ้าบูชาพระสถูปเจดีย์ บ้างก็บริจาคทรัพย์จำแนกแจกทานแก่ยาจกทลิทก คนกำพร้าอนาถาชราพิการ บ้างก็ซื้อถ่ายชีวิตสัตว์ จัตุบาทชาติมัจฉาต่าง ๆ ปลดปล่อยให้ได้ความสุขสบาย อันว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินและราชตระกูล ก็ทรงศีลบำเพ็ญการพระราชกุศลต่าง ๆ ในวันวิสาขบูชาพุทธศาสน์เป็นอันมาก เพลาตะวันชายแสง ก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยราชสุริยวงศ์นางในออกวัด หน้าพระธาตุ ราชอารามหลวงวันหนึ่ง ออกวัดราชบุรณะพระพิหารหลวงวันหนึ่ง ออกวัดโลกยสุธาราชาวาสวันหนึ่ง ต่างนมัสการ พระรัตนัตยาธิคุณ โปรยปรายผกาเกสรสุคันธรสสักการบูชา ถวายประทีปธูปเทียนเวียนแว่น รอบรัตนบัลลังก์ ประโคมดุริยางคดนตรีดีดสีตีเป่าสมโภช พระชินศรี พระชินราช พระโลกนาถ-สัตถารศ โดยมีกมลโสมนัสศรัทธาทุกตัวคน"๑
และมีคำสรรเสริญว่า "อันพระมหานครสุโขทัยราชธานีถึงวันวิสาขนักขัตฤกษ์ครั้งใด ก็สว่างไปด้วยแสงประทีปเทียน ดอกไม้เพลิง แลสล้างสลอน ธงชายธงปฏาก ไสวไปด้วยพู่พวงดอกไม้กรองร้อยห้อยแขวน หอมตลบไปด้วยกลิ่นสุคนธรสรวยรื่น เสนาะสำเนียงพิณพาทย์ ฆ้องกลองทั้งทิวาราตรี มหาชนชายหญิงพากันกระทำกองการกุศล เสมือนจะเผยซึ่งทวารพิมานฟ้าทุกช่อขึ้น"๒
แสดงให้เห็นว่า ในสมัยนั้น เมื่อถึงวันวิสาขบูชา ประชาชนชาวไทยนับตั้งแต่องค์พระมหากษัตริย์ลงมา จะพร้อมกันรักษาอุโบสถศีล สดับตรับฟังพระธรรมเทศนา และประดับประดาบ้านช่องด้วยประทีปโคมไฟและดอกไม้ตลอดสามวันสามคืน ซึ่งเป็นการเพิ่มพูนศรัทธาปสาทะให้แก่ผู้ที่ได้พบเห็นยิ่งขึ้น
ครั้งถึงสมัยอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานว่าปฏิบัติกันอย่างไร จนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา จึงได้มีพิธีวิสาขบูชาเป็นแบบแผนขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๐ โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงปรึกษากับสมเด็จพระสังฆราช (มี) แล้วได้ทรงรื้อฟื้นพิธีวิสาขบูชาให้เป็นแบบแผนขึ้น มีพระราชกำหนดเรียกว่า "พระราชกำหนดพิธีวิสาขบูชา" ได้ทรงเกณฑ์ข้าราชการให้ร้อยดอกไม้มาแขวนไว้ในวัดพระศรี-รัตนศาสดารามวันละ ๑๐๐ พวงเศษ ทั้งได้ประกาศเชิญชวนให้ประชาชนรักษาศีลโดยทั่วกัน ให้ไปฟังเทศน์ และให้จุดประทีปโคมไฟทั้งในอารามและตามบ้านเรือนทั่วไป
ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระองค์ได้ทรงจัดให้มีเทศน์ปฐมสมโพธิว่าด้วยเรื่องราวของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ พระองค์ได้โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการฝ่ายในเดินเทียนและสวดมนต์ที่พระพุทธรัตนสถานอีกแห่งหนึ่ง
ส่วนพุทธศาสนิกชนทั่ว ๆ ไป เมื่อถึงวันวิสาขบูชา นอกจากจะทำบุญ ถือศีลและฟังเทศน์แล้ว ตอนเช้าก็จะนำดอกไม้ธูปเทียนไปบูชาตามวัด บางทีก็ไปประชุมกันในโบสถ์ ถ้าโบสถ์แคบไปก็อยู่ข้างนอกโบสถ์บ้าง แล้วผู้เป็นหัวหน้าก็จะกล่าวคำบูชาพระ จบแล้วก็จัดแถวเดินประทักษิณพระอุโบสถ ๓ รอบ เรียกว่า "เดินเวียนเทียน" ในการเดินเวียนเทียนนี้ ต้องสำรวมรักษากิริยามารยาท อย่าเห็นแก่สนุกสนาน ตั้งจิตให้เป็นบุญเป็นกุศล ในรอบแรก ให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ โดยว่า อิติปิโส ภควา ฯลฯ พุทฺโธ ภควาติ. ในรอบที่ ๒ ให้ระลึกถึงพระธรรมคุณ โดยว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ฯลฯ ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิฺหีติ. และในรอบที่ ๓ ให้ระลึกถึงพระสังฆคุณ โดยว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ ฯลฯ อนุตฺตรํ ปุฺกฺเขตฺตํ โลกสฺสาติ. เมื่อเดินเวียนเทียนครบ ๓ รอบแล้ว ถ้าตามวัดนั้น ๆ มีการแสดงพระธรรมเทศนา ก็ควร เข้าไปฟังพระธรรมเทศนาในพระอุโบสถด้วย.
บรมครูผู้ยิ่งใหญ่ เพราะคำที่พวกเราได้นำเอาหลักคำสอนของพระองค์มาใช้ในชีวิตจริง พวกเราจึงควร ถวายการอภิวาทสดุดีแด่พระองค์ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระบรมคร ูของมวลมนุษย์ ตลอดเวลาที่โลกนี้ยังดำรงอยู่ ข้าพเจ้ามั่นใจ อย่างไม่หลงเหลือความเคลือบแคลงเลย แม้แต่น้อยว่า พระองค์จะทรงดำรงฐานะ ปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ
มหาตมา คานธี
มหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ในวันพระจันทร์เพ็ญเสวยวิสาขฤกษ์นี้ ข้าพเจ้าได้มาร่วมเฉลิมฉลองวันคล้าย วันประสูติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ถวายอภิวาทด้วยเศียรเกล้า แด่พระองค์ผู้ที่ข้าพเจ้ายอมรับ นับถือด้วยใจจริง ในฐานะมหาบุรุษ ซึ่งยากนักหนาจะอุบัติขึ้นในโลกนี้ ... ในนานาประเทศที่ไกลโพ้น ชนทั้งหลายต่างยินดีปรีดาร่วมฉลองการเสด็จมาของพระองค์ พวกเขาประกาศยืนยันว่า เพิ่งได้เคยพบเคยเห็นอุตมบุรุษผู้รุ่งเรืองสว่างไสว ดั่งดวงอาทิตย์ ซึ่งอุทัยขึ้นมาขับม่านเมฆ แห่งความมืดมนให้ปลาสนาการไป ฉะนั้น
รพินทรนาถ ฐากูร

ยุทธศาสตร์การเผยแผ่พุทธศาสนา

''ยุทธศาสตร์การเผยแผ่พุทธศาสนา'' พระธรรมโกศาจารย์ (2546)
ผมได้มีโอกาสมาพูดในการอบรมพระธรรมทูตนี้ทุกปี แต่ละปีก็มีประเด็นที่เป็นข้อคิดหลายเรื่อง แม้จะกำหนดหัวข้อให้พูดเรื่องการเผยแผ่ แต่วันนี้จะถวายความเห็นเรื่องยุทธศาสตร์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในการไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศนั้น ความรู้ความสามารถของเรามีด้วยกันทั้งนั้น แต่ที่ไม่ค่อยบรรลุผลตามที่เราต้องการ คงจะเกี่ยวกับปัญหาเรื่องยุทธศาสตร์ จึงทำให้มีปัญหาและอุปสรรคอื่น ๆ มาก บางท่านเทศน์ดีสอนดี ก็ยังอยู่ไม่ได้ ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะยังมีปัจจัยอะไรหลายอย่าง งานพระธรรมทูตมีความละเอียดอ่อนมาก แถมยังถูกค่อนขอดว่าไปสอนเฉพาะกับคนไทยด้วยกัน เขาเอาเราไปเปรียบเทียบ กับพระธรรมทูตธิเบต ญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งศรีลังกาที่ประสบผลสำเร็จมากกว่าในการเผยแผ่กับชาวต่างประเทศ ในขณะที่เราประสบความสำเร็จกับคนไทย จึงต้องทำให้หันมามอง เหมือนกันว่าเรื่องนี้เป็นเพราะอะไร ก่อนที่เราจะลงไปเผยแผ่จริงๆ เราต้องทำการวิเคราะห์อย่างที่นักวางแผนทั้งหลายทำกันก่อนจะไปลงมือปฏิบัติการจริง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาราชวิทยาลัยก็ทำการวิเคราะห์ชนิดนี้ซึ่งเรียกว่า SWOT Analysis ก่อนที่เราจะลงมือปฏิบัติการจริงต้องทำการวิเคราะห์สถานการณ์ ๔ ด้าน คือ SWOT ประกอบด้วย ๑. จุดแข็ง (S=Strength) ๒. จุดอ่อน (W=Weakness) ๓. โอกาส (O=Opportunity) ๔. สิ่งคุกคาม (T=Threat) ก่อนที่ท่านจะไปทำงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างแดนนั้น ต้องวิเคราะห์ประเด็นทั้งสี่ล่วงหน้าว่าที่ที่ท่านจะไปอยู่มีอะไรรอท่านอยู่เพื่อจะเตรียมตัวได้ถูกต้อง อย่าไปแบบขอตายดาบหน้าเป็นอันขาด รวบรวมข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ทั้งสี่ประเด็นให้ได้แล้วค่อยไปทำงาน ซุนวูกล่าวว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครา (If you know others and know yourself, you will not be defeated in a hundred battles.)”
จุดแข็ง (Strength) คำแรกคือจุดแข็ง(Strength) ได้แก่ เวลาที่จะลงไปในพื้นที่ใดต้องหาข้อมูลให้ได้ก่อนว่า พื้นที่นั้นมีอะไรเป็นจุดแข็งที่ทำให้เราน่าจะทำงานก้าวหน้าไปด้วยดี ผมลองวิเคราะห์ดูจากประสบการณ์จากหลายแห่งที่ผมเคยไปทำงานมาเปรียบเทียบดู เช่น ถ้าเราดูจุดแข็งของการเผยแผ่พระธรรมทูตในสหรัฐอเมริกา จุดแข็งก็คือความเข้มแข็งของชุมชนชาวไทย ซึ่งข้อนี้เป็นจุดดี เพราะคนไทยรวมกลุ่มกันสร้างวัดและให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี นี่คือฐานที่มั่น จุดดีของคนไทยในต่างประเทศคืออยากบริจาคทรัพย์ทำบุญ เมื่อบริจาคก็ทำให้วัดมีเงินมาก ในยุโรปก็เช่นเดียวกัน แต่ในอินเดียนั้นไม่ใช่คนไทยในอินเดียบริจาค แต่เป็นคนไทยในประเทศไทยไปบริจาคสร้างวัดไทยในอินเดีย เพราะฉะนั้นคนไทยทั้งในและต่างประเทศให้การสนับสนุนเรื่องเงินเป็นอย่างดีในการสร้างวัด ส่วนพระลังกาไม่มีจุดแข็งนี้ พระลังกาเคยบ่นให้ฟังเมื่อเวลาไปพบกันที่ต่างประเทศว่า คนลังกาทำบุญนิด ๆ หน่อย ๆ ทั้งที่มีเงินมากเหมือนกัน ท่านบอกว่าคนลังการวยสู้คนไทยไม่ได้ เพราะคนไทยทำธุรกิจร้านอาหารไทยดังไปทั่วโลก ไปที่ไหนก็เจอแต่ร้านอาหารไทย วันหนึ่ง ๆ พระธรรมทูตไทยไปสวดมนต์ฉันเพลที่ร้านอาหารไทย ก็หมดเวลาแล้ว จุดแข็งอีกประการหนึ่งของคนไทยในต่างแดนคือชอบเข้าวัด คนไทยที่เมืองไทยไม่ค่อยชอบเข้าวัด แต่คนไทยในต่างประเทศจะเข้าวัดบ่อย อันนี้เป็นจุดดี เมื่อเข้าวัดบ่อย พาลูกหลานมาเรียนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เขาทำกิจกรรมให้วัด เพราะคนไทยเหงาจึงต้องการพบคนไทยและสถานที่ที่เขาจะพบกันคือวัด ทางสถานทูตไทยเมื่ออยากจะประกาศชี้แจงนโยบายอะไรก็ตาม ต้องไปที่วัด ฉะนั้นวัดจึงเป็นศูนย์กลางของชุมชน เหมือนวัดในประเทศไทยสมัยโบราณ
จุดอ่อน (Weakness) คำที่สองคือจุดอ่อน (Weakness) ได้แก่เรื่องภาษาและการบริหารจัดการ ภาษาอังกฤษเป็นจุดอ่อนของพระธรรมทูตไทย เราจึงสอนได้แต่เฉพาะคนไทยเท่านั้น เราจำเป็นต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้ ในปี ๒๕๓๐ ผมเป็นคณบดีผู้ก่อตั้งบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อธิการบดีในยุคนั้น แต่งตั้งผมเป็นคณบดี แต่ไม่มีงบประมาณให้เปิดปริญญาโท ผมเป็นเจ้าไม่มีศาล ไม่มีนิสิตสักรูปเดียว มีโต๊ะทำงานอยู่ตัวหนึ่ง เมื่อถามอธิการบดีว่าทำไมไม่เปิดบัณฑิตวิทยาลัย ท่านบอกว่าไม่มีเงิน หลังจากนั้นผมได้รับนิมนต์ไปชิคาโก ก่อนกลับไทย ผมขอเทศน์กัณฑ์หนึ่งเพื่อระดมทุนไปเปิดปริญญาโทที่เมืองไทย ผมคุยว่าจะผลิตมหาบัณฑิตให้พูดภาษาอังกฤษได้ ญาติโยมชิคาโกชอบไอเดียนี้เพราะที่อเมริกาหาพระไทยพูดอังกฤษเก่งได้น้อย บางคนสงสัยว่าจะทำได้หรือ ผมบอกว่าคงจะทำได้ คือทำให้พระพูดภาษาอังกฤษได้ แต่ไม่ได้บอกว่าพูดได้ดีขนาดไหน เมื่อเทศน์จบ ปรากฏว่าผมได้กัณฑ์เทศน์เกือบสองแสนบาท สมัยเมื่อสิบห้าปีที่แล้วเป็นเงินไม่ใช่น้อย ผมนำเงินมาถามอธิการบดีว่าจะอนุญาตให้เปิดปริญญาโทไหม ถ้าอนุญาต ผมจะถวายเงินเข้ามหาวิทยาลัย ถ้าไม่อนุญาต ผมจะนำไปถวายวัดประยูรเพื่อให้เปิดการอบรมพระนักเทศน์ ท่านอธิการบดีตกลงอนุญาต บัณฑิตวิทยาลัยจึงเกิดขึ้นได้เพราะเงินกัณฑ์เทศน์นั้น ซึ่งโยมชิคาโกถวายมาเพื่อผลิตมหาบัณฑิตที่เทศน์เป็นภาษาอังกฤษได้ ทุกวันนี้ มหาจุฬาฯมีหลักสูตรปริญญาโทนานาชาติสอนเป็นภาษาอังกฤษ แต่พระไทยที่ภาษาอังกฤษดีพอที่จะเรียนจบหลักสูตรมีน้อย
การบริหารวัดในต่างประเทศ จุดอ่อนในเรื่องนี้อีกข้อหนึ่งก็คือการที่คนไทยเข้าวัดบ่อย ญาติโยม ชอบบริหารจัดการวัดแทนพระ ทำตัวเป็นเหมือนกับเจ้าของวัด แต่กลายเป็นจุดอ่อนเพราะชาวบ้านไม่ค่อยเข้าใจวัฒนธรรมวัด มักคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของวัด เพราะวัดจดทะเบียนในนามของสมาคมหรือองค์กร ตั้งกฎระเบียบไว้ว่าเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร (non-profit organization) การบริหารจัดการอยู่ในรูปคณะกรรมการ พระในบางวัดแทบไม่มีอำนาจเลย มีโยมเก่งๆจัดการให้เสร็จเรียบร้อย เวลาพระไม่ทำตามนโยบายของกรรมการ เขาไม่พอใจ พระก็อยู่ไม่ได้ จุดแข็งที่คนเข้าวัดมากกลายเป็นจุดอ่อนไปทันที ถ้าพระบริหารจัดการไม่ดี คือมือไม่ถึง ไม่สามารถเรียกศรัทธาญาติโยมได้ เพราะฉะนั้น เมื่อจะไปเป็นพระธรรมทูตต้องให้ครบเครื่อง ถ้าเราไม่ครบเครื่องก็ต้องสามัคคีกันให้ดี ทำงานเป็นทีม คนไทยในต่างแดนแข่งขันแย่งกันดำรงตำแหน่งเป็นประธานหรือเป็นกรรมการต่างๆ ก่อให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งหรือขัดแย้งกันเองในระหว่างผู้ที่เข้าวัดด้วยกัน จุดแข็งกลายเป็นจุดอ่อนถ้าบริหารไม่ดี เพราะฉะนั้นความรู้ในเรื่องของการบริหารการจัดการเป็นเรื่องสำคัญมาก ปัญหามีทุกที่ ถ้าแก้ปัญหาไม่ทันจะลุกลาม กลายเป็นจุดทำลายวัดไปได้ ถ้าแก้ปัญหาทันก็กลายเป็นดีไป จะมีคนไทยเข้าวัดมาก และส่งเสริมสนับสนุนให้พระเผยแผ่กับชาวต่างประเทศได้มากขึ้น ในต่างประเทศมีโยมมาช่วยบริหารจัดการวัด พระช่วยทำงานสอนธรรมะ สอนภาษาไทย ทำให้บางวัดเจริญมาก ถ้าทำงานสัมพันธ์กันเป็นทีมจะดีมาก แต่ถ้าไม่เป็นทีมก็ปวดหัวมาก ๆ เพราะโยมก็ยึดเป็นเจ้าของวัดไป เราเป็นพระธรรมทูตเข้าไปอยู่ใหม่ ดีไม่ดีก็อยู่ไม่ได้ ต้องสร้างความเข้าใจสร้างความสัมพันธ์ สร้างระบบบริหารกับเจ้าของพื้นที่ให้ดี แล้วจะกลายเป็นพลังสำคัญในการบริหารวัด
โอกาส (Opportunity) ถ้าเราไปอยู่วัดต่างประเทศแล้ว แต่ทำงาน กับชาวต่างประเทศไม่ได้ เพราะภาษาอังกฤษของเราไม่ดี ก็ขลุกอยู่แต่ข้างในวัด เห็นหน้ากันอยู่แค่นั้น สอนคนไทยอยู่คนละมุมสองมุมในวัด งานไม่ก้าวหน้า ถ้าท่านไปสอนคนต่างประเทศ ท่านมีโอกาสเยอะมากที่จะทำงานในเชิงรุก ไปทำงานนอกวัด ท่านต้องหาโอกาสนี้ให้เจอ ต้องวางแผนว่าท่านจะไปเผยแผ่กับใคร ถ้าท่านเก่งเรื่องกรรมฐาน บังเอิญวัดนั้นเขามีอาจารย์สอนกรรมฐานอยู่แล้ว ท่านจะไปไม่รอด ท่านต้องไปสอนกรรมฐานแต่ไม่ใช่กับคนไทยในวัด ต้องสอนแก่ชาวต่างประเทศได้ ถ้าภาษาอังกฤษยังใช้ไม่ได้ ต้องจับใครสักคนมาเป็นล่าม หลวงพ่อชาพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่สอนพระฝรั่งได้ เพราะใช้ล่ามแปล พระบางรูปอายุมากแล้วจะพัฒนาภาษาอังกฤษให้ดีคงยาก แต่ต้องยอมรับว่าโอกาสยังมี เราต้องเรียนบทเรียนจากทางสายหลวงพ่อชา ซึ่งมีข้อด้อยเหมือนเรา แต่ประสบความสำเร็จ ไปสอนที่ไหนก็ตามเขาจะมีคนไทยมาช่วยหนุนหลังสร้างวัด คนไทยช่วยบริจาคทรัพย์ แต่ในขณะเดียวกันเขาจะบุกเบิกไปยังคนในท้องที่เช่นไปในอังกฤษ จุดแข็งของคนในอังกฤษ คือเป็นคนค่อนข้างอนุรักษ์นิยม (conservative) ชอบเรื่องศาสนา โอกาสดี (Opportunity) คือ คนอังกฤษเป็นผู้สนใจธรรมะ ศาสนาไหนเข้ามา จะรับไว้ก่อนทั้งนั้น นี่เป็นโอกาสดีของพระ สังคมอเมริกันชอบลองของใหม่เรียกว่าเป็นนักหาประสบการณ์ อะไรดี ๆ เขาอยากลอง เห็นว่าเป็นสิ่งท้าทาย พลอยเป็นโอกาสดีของเราด้วย คนอเมริกัน เป็นคนละอย่างกับคนอังกฤษที่หัวโบราณ เมื่อสอนกรรมฐาน คนอเมริกัน จะลองดูก่อน เขายังไม่เชื่อหรอก เขาถือเป็นโอกาสที่จะพิสูจน์ และเวลาที่เราไปทำงานที่นั่นถ้าเราไปเจอคนที่กล้ามาพิสูจน์ จะต้องเตรียมการดี ถ้ามีโอกาสเช่นนั้น ผมคิดว่าช่องทางโอกาสนั้นมีมาก ท่านทั้งหลายต้องเตรียมตัวศึกษาหาโอกาสให้พบ
บริหารแบบมืออาชีพ ผมจะยกตัวอย่างของมหาจุฬาฯ จุดแข็งของมหาจุฬาฯ คือการเป็นมหาวิทยาลัย เราไม่ใช่แค่วัดหรือสำนักกรรมฐาน แต่เป็นมหาวิทยาลัย (University) เรามีตรงนี้เป็นจุดขาย เพราะฉะนั้นเราจะทำงานเผยแผ่แบบวัดไม่ได้ ความเป็นมหาวิทยาลัยคือความเป็นนักวิชาการ หมายถึงความเป็นมืออาชีพ เราต้องทำงานอย่างมืออาชีพ ผมอยากให้ท่าน ไปดูวิธีทำงานของมหาจุฬาฯ บางที พวกท่านที่ยังมองไม่เห็นคำว่ามืออาชีพว่าต่างจากมวยวัดอย่างไร มืออาชีพ (professional) คือจุดแข็งของมหาวิทยาลัยสงฆ์ คำว่ามืออาชีพคือวิชาการ มีการศึกษามีทีมงานวิจัยหนุนหลัง มีความรู้และการวางแผนล่วงหน้า นี้คือจุดแข็ง เรามีจุดแข็งที่มหาเถรสมาคมต้องมอบหมายงานให้เราทำหลายเรื่อง รวมถึงงานอบรมพระธรรมทูตด้วย ความเป็นมืออาชีพคือเราจะทำอะไรก็ตามจะต้องมีข้อมูลเพียบพร้อม ไม่ตายดาบหน้า ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมจะไปทำงานอะไรที่ไหนก็ตาม ถ้าไปในนามมหาวิทยาลัยทีมจะต้องหาข้อมูลก่อน ตรวจดูว่ามีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ในทำนองเดียวกัน พิธีปราสาทปริญญาของมหาจุฬาฯ เมื่อเทียบกับงานวัดจะต่างกันมาก เพราะความเป็นระเบียบ มีขั้นตอนพิธีการ มีจุดมุ่งหมายเสมอว่าเราทำเพื่ออะไร ไม่ทำสะเปะสะปะ เพราะฉะนั้นต้องมีขั้นตอนมีวิธีการและการดำเนินงานทุกอย่าง เชื่อมประสานสัมพันธ์อยู่ภายใต้การควบคุม (under control) ไม่ให้มีสิ่งไม่ประสงค์ เกิดขึ้น รู้ที่มาที่ไป ไม่ให้อะไรเกิดขึ้นโดยไม่รู้หรือคุมไม่ได้ ไม่ใช่อยู่ ๆ ใครนึกมาเป็นพิธีกรก็มา จะต้องมีการตกลงกันก่อน มีการตกลงเตรียมการ ว่าใครจะทำอะไร ตรงไหน อย่างไร ทุกขั้นทุกตอน เรื่องนี้ถ้าเราทำไม่สะดวกหรือไม่เชี่ยวชาญ เราก็ตั้งคำถามว่าใครจะมาช่วยเรา ต้องมีทีมหนุนหลัง (back up) เพราะถ้ามีจุดอ่อน (Weakness) ก็ต้องถามว่ามีใครมาช่วย ใครมาทำ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าภาษาอังกฤษไม่เก่ง ใครมาช่วยเป็นล่าม ไม่ใช่ว่าภาษาอังกฤษไม่เก่งก็ยังพูดทู่ซี้ไป เขียนอะไรเรื่อยเปื่อยไป ไม่ใช่ครับ ต้องเอาฝรั่งมาช่วยเรา ผมจัดประชุมนานาชาติหลาย ๆ ครั้ง ให้ฝรั่งมาช่วย ใช้คนที่เก่งภาษาอังกฤษมาช่วย มาจัดทำหนังสือ เราจะดูว่าตรงไหนเราทำได้ ตรงไหนเราทำไม่ได้ หาคนจะมาช่วย เพราะฉะนั้น คำว่า “คนมาช่วย” คือโอกาส (Opportunity) ของมหาจุฬาฯต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น ตรงที่ผู้มีศรัทธายินดีมาบริจาค หรือมาช่วยลงแรง ช่วยอย่างไม่มีขอบเขต ไม่มีจำกัด คนศรัทธาพระในเมืองไทยมีจำนวนมหาศาล เรามีโอกาสมหาศาล นี่คือทุนทางสังคม
โอกาสด้านเครือข่าย ผมกำลังสร้างเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของมหาจุฬาฯขึ้นมา ตอนนี้ผมทำเว็บไซต์ (website)เชื่อมเครือข่ายข่าวสารข้อมูลของทุกวิทยาเขต ทั้งทำซอฟแวร์ต่าง ๆ ให้มีโครงสร้างพื้นฐานหรือเครือข่ายเชื่อมไปทุกวิทยาเขต เรามีเครือข่ายที่เชื่อมในประเทศ และต่างประเทศ จะใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น เรียนทางไกล ถ่ายทอดตอนผมพูดอยู่ตรงนี้ ต่อไปทุกคนทั่วโลกจะดูได้หมด เป็นการศึกษาทางไกล (Teleconference) แล้วบันทึกไว้ใน server ของเรา ใครเปิดดูก็ได้ เขาเรียกว่าวีดิทัศน์ตามต้องการ (video on demand) อาจารย์สอนวิชาแล้วบันทึก ไว้ใครจะมาเปิดดูเมื่อไรก็ได้ทั่วโลก บางคนบอกว่าผมฝัน ถ้าผมพูดแบบพระทำไม่ได้ เราไม่ใช่มืออาชีพ แต่ผมหาคนมาช่วยทำให้ ผมใช้เครือข่ายที่สำคัญมากเข้ามาช่วย เป็นเครือข่ายของ ทีเอ หรือเทเลคอมเอเชีย (TA=Telecom Asia) ทุกวันนี้ทีเอมีอินเตอร์เน็ต เขาวางเครือข่ายพื้นฐานไว้หมดแล้วอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เขาปวารณาว่าจะช่วยมหาจุฬาฯ เขาส่งทีมมาดูและวิเคราะห์ให้หมด พาพวกเราไปดูงานที่บริษัทด้วย ขัดข้องตรงไหนให้บอกท่านธนินทร์ เจียรวนนท์ ประธานใหญ่ของซีพี (เจริญโภคภัณฑ์) สั่งตรงมาเอง อันนี้คือโอกาส และไม่ใช่เรื่องนี้เรื่องเดียว พอเราจะประชุมนานาชาติ คนก็เอาเงินมาให้เราทำงาน เมื่อปีที่แล้วมหาจุฬาฯจัดประชุมสภาผู้นำศาสนาโลก (World Council of Religious Leaders) ปีหน้าเราจะจัดประชุมผู้นำเยาวชนเพื่อสันติภาพโลก (World Youth Peace Summit) เพราะฉะนั้นโอกาสของมหาจุฬาฯ คือการ สร้างเครือข่ายกระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว คนมาสมัครเรียนมหาจุฬาฯกันมากมาย เรามีจุดอ่อน คือเมื่อคนมาเรียนมาก ไม่มีห้องเรียน ชั้นเรียนเต็มไปหมด เพราะฉะนั้นโอกาสของเราคือต้องไปสร้างมหาวิทยาลัย ในพื้นที่ใหม่เกือบร้อยไร่ ตอนแรกปี ๒๕๔๓ เราตั้งงบประมาณไว้ ๙๐๐ ล้านบาท เศรษฐกิจตกตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ เป็นต้นมา เราจะไปหาเงินที่ไหน เศรษฐกิจก็ไม่ดี แต่ภายในสามปีที่เราทำมา ตอนนี้ได้ ๙๐๐ ล้านบาทแล้ว เราขยายงบเพิ่มเป็น ๑,๒๐๐ ล้านบาท และจะสร้างวัดติดกับมหาวิทยาลัย เราได้เงินบริจาคมากเพราะใช้โอกาสทั้งนั้น ผมไม่ใช่นักก่อสร้าง แต่เราได้เงินมาก เพราะเรารู้จุดแข็ง จุดอ่อน และโอกาส ของเรา
สิ่งคุกคาม (Threat) นอกจากสามคำดังกล่าวแล้ว คำที่สี่ที่ต้องนำมาวิเคราะห์ คือ เราต้องรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่คุกคามเรา (Threat) สิ่งที่เป็นภัยคุกคามมหาจุฬาฯ คือต่อไปคนบวชน้อยลง อันนี้เป็นสิ่งคุกคาม คณะสงฆ์ทั่วไปด้วย เราสร้างมหาวิทยาลัยใหญ่โต ปรากฏว่าเด็กจะเรียนในโรงเรียนมากขึ้น เมื่อเด็กเรียนในโรงเรียนมากขึ้น บวชเณรน้อยลง บวชพระน้อยลง ใครจะมาเรียน เพราะมหาจุฬาสร้างที่เรียนไว้เยอะ ถามว่าเรามีแผนเตรียมรับภาวะคุกคามไหม ท่านไปสอนในวัดที่อเมริกา ภาวะคุกคามคืออะไร ท่านมีวัดใหญ่โต มีพร้อมหมดทุกอย่าง ภาวะคุกคามก็คือความเป็นวัดใหญ่โตนั้น สำหรับคนไทยรุ่นพ่อแม่เท่านั้นที่บริจาค รุ่นลูกไม่ยอมเข้าวัด เขาพูดภาษาอังกฤษ เรียนโรงเรียนฝรั่ง เป็นหนุ่มเป็นสาวไม่เข้าวัด วัดที่สร้างใหญ่โต รุ่นพ่อแม่ เมื่อเกษียณแล้วกลับไทย หรือตายจากไป อีก ๑๐ หรือ ๒๐ ปีข้างหน้า ใครเข้าวัด นี้คือสิ่งที่คุกคาม
จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และสิ่งคุกคาม (SWOT) เราวิเคราะห์ทุกอย่าง พูดในสิ่งที่ไกลตัวแล้ว คราวนี้ลองมาวิเคราะห์สี่คำที่ใกล้ตัวบ้าง ท่านจะไปเป็นพระธรรมทูต อะไรคือจุดเด่นของท่าน ท่านเก่งด้านไหน เช่น เก่งเรื่องก่อสร้าง ปรากฏว่าไปที่วัดนั้นเขาสร้างหมดแล้ว กลายเป็นว่าจุดแข็งไม่มีประโยชน์ อะไรคือจุดเด่นของท่าน ท่านสอนกรรมฐาน เทศน์เก่ง บรรยายธรรมคล่อง แต่ภาษาอังกฤษไม่ได้เรื่อง ไปอยู่ที่นั่นปรากฏว่าคนอื่นเขายึดธรรมาสน์หมดแล้ว ท่านไม่มีโอกาสที่จะแสดงธรรม ท่านต้องหาจุดแข็ง ของท่านใหม่ สร้างขึ้นมาให้ได้ ให้สอดคล้องกับโอกาส (Opportunity) โอกาสมีด้วยกันทั้งนั้นแหละ ท่านไปทำงานที่ไหนก็ตาม บางท่านไม่เทศน์ภาษาอังกฤษ ใช้ภาษาลาวหรือภาษาเขมรอย่างเดียว ยังไปรอดได้ เพราะว่าชุมชนชาวลาว ชาวเขมรใหญ่มาก ๆ ในออสเตรเลีย อเมริกาและฝรั่งเศส แค่พูดภาษาของเขาได้ก็สบายแล้ว นี่เป็นจุดแข็งได้ เพราะฉะนั้น เมื่อท่านจะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ท่านต้องมีความสามารถในทางภาษา ผมคาดหวังท่านให้เก่งภาษา จะเป็นภาษาอะไรก็ได้ ถ้าพระธรรมทูตไปอยู่ในต่างประเทศ สิ่งที่เขาต่อว่ามาก็คือ ให้ไปเทศน์หรือสอนเป็นภาษาอังกฤษบ้าง ท่านก็พอจะทำได้ แต่มักไม่เตรียมพูดเป็นภาษาอังกฤษ พระลังกาสวดมนต์ฉันเพลเสร็จ เขาจะเทศน์ ๑๕ นาทีเป็นภาษาอังกฤษ แต่พระไทยไม่ยอมเทศน์ เสียโอกาสมาก ๆ อ้างว่าพูดอังกฤษไม่ได้ ถ้าพูดไม่ได้ก็ท่องไป ถ้าสอนเด็กพุทธศาสนาวันอาทิตย์เป็นภาษาไทย เขาไม่เข้าใจธรรมะหรอก เด็กไทยในอเมริกาพูดภาษาอังกฤษ ถ้าจะให้ชนะใจเด็กที่โน้น ต้องสอนสองเรื่อง คือสอนพระพุทธศาสนาเป็นภาษาอังกฤษ และสอนให้เด็กพูดภาษาไทย เขียนและอ่านภาษาไทยได้ พ่อแม่เด็กจะชอบใจมาก เพราะฉะนั้น ก่อนไปต่างประเทศ ท่านต้องรู้วิธีสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติได้ สอนภาษาไทยผ่านภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ก. ไก่ แบบนี้ใครก็สอนได้ แต่สอนผ่านภาษาอังกฤษ ต้องฝึก เพราะเด็กต่างประเทศไม่รู้ภาษาไทย ถ้าท่านสามารถใช้ภาษาอังกฤษไปสอนภาษาไทยให้เขา เด็กก็สอนภาษาอังกฤษให้เรา เราเตรียมคู่มือการใช้ภาษาอังกฤษสอนภาษาไทยติดมือไป ผมเคยเจอฝรั่งที่พูดไทยได้ ถามว่าเขาเรียนภาษาไทยจากไหน เขาบอกว่าจากหลวงพี่ที่วัดไทยในอเมริกา ถ้าภาษาอังกฤษดี ให้ท่านสอนธรรมะเป็นภาษาอังกฤษ ผมสังเกตดูเด็กไทยที่โน้นไม่เข้าใจภาษาไทย ถ้าเราสอนธรรมะเป็นภาษาอังกฤษให้เขา เขาจะเข้าใจเร็วมาก เขาจะซาบซึ้งนับถือเราเร็วขึ้น ผมเคยไปสอนเด็กที่ชิคาโกอยู่หลายเดือนเหมือนกัน เด็กตั้งแต่ ป.๒ ป.๓ ที่โน้นพูดภาษาไทยไม่ค่อยได้ แต่เด็กจะสนใจพระพุทธศาสนามาก ภาษาอังกฤษผมก็ใช่ว่าจะดีถึงขนาดสอนธรรมะเป็นนามธรรมให้เด็กเข้าใจได้ เราไปศึกษาวิธีสอนในโรงเรียนปกติของเด็ก คือเขาแจกอุปกรณ์เยอะ เขาไม่ไปบรรยายกันดุ่ย ๆ ครูสมัยโบราณต่างจากครูสมัยปัจจุบัน ครูสมัยโบราณมีหนังสือให้อ่านแล้วครูอธิบาย เด็กก็จำ แบบที่เราเรียนกันมา สมัยนี้เขาไม่ใช่มีหนังสืออย่างเดียว ยังมีคอมพิวเตอร์ด้วย ครูมีหน้าที่แนะนำให้เด็กอ่านแล้วก็มารายงานหน้าชั้น ให้เด็กถามและตอบปัญหา ให้เด็กอภิปราย เราก็ใช้วิธีการเดียวกันในการสอนธรรมะ ท่านสอนเด็กด้วยความรู้ความเข้าใจพระพุทธศาสนาที่ท่านเตรียมการสอนไว้ ได้ตำราที่จะสอนเด็กทั้งหมดก็เอาเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ ไปปริ้นท์แจกแต่ละบทเรียน ให้เด็กอ่าน อภิปราย (discuss)กัน แล้วเราก็ตอบคำถามบ้าง พยายามฟังสำเนียงเด็กให้รู้เรื่องก่อน แล้วก็เยสโน (yes no) ตอบไป เท่านี้เราก็สอนได้แล้ว ข้อสำคัญก็คือหาหนังสือสอนเด็กมีภาพการ์ตูน ซึ่งทุกวันนี้หลักสูตร ที่สอนเด็กเป็นภาษาอังกฤษมีเว็บไซต์ต่าง ๆ สำหรับสอนชั้นประถม มัธยมไว้อย่างดีพอสมควร ผมแนะนำว่า จะสอนเด็กนั้น ท่านต้องมีคู่มือมีสื่ออุปกรณ์ พยายามอธิบายเป็นภาษาอังกฤษเด็กจะเข้าใจดี
สอนพระพุทธศาสนาให้ปรับประยุกต์ วัยรุ่นในต่างประเทศร้องทุกข์ว่าทำไมเวลาพระสอนพระพุทธศาสนา ไม่รู้จักประยุกต์ให้เข้ากับวิถีชีวิตเขา อันนี้เป็นจุดอ่อนของเราอย่างหนึ่ง มหายานปรับตัวเร็วกว่าเรา เราจะมีศาสนพิธีมากซึ่งปรับยาก ถ้าไม่อธิบายไม่ทำความเข้าใจ และไม่วิเคราะห์ให้ดี เราจะได้เฉพาะคนแก่ ๆ เข้าวัดเท่านั้น เวลาฝ่ายมหายานสอนนั่งกรรมฐาน เขาจะมีเบาะรองนั่ง หรือมีเก้าอี้ เขาไม่ให้นั่งขัดสมาธิบนพื้น เพราะฝรั่งนั่งยาก คนไทยก็เมื่อย ฉะนั้นคนไปโบสถ์ฝรั่ง เขานั่งเก้าอี้กัน มีวัดไทยในต่างประเทศบางวัดไปซื้อโบสถ์คริสต์ก็ยังเก็บเก้าอี้ที่นั่งยาว ๆ เอาไว้ ให้มีการปรับประยุกต์บ้าง ข้อสำคัญที่สุดเด็ก ๆ ไปเรียนอยู่ในโรงเรียนคริสต์เขากลับมาบอกพ่อแม่ว่า ศาสนาคริสต์ทันสมัยมาก พระไทยไม่เห็นสอนอะไรที่ใช้ประโยชน์ได้เลย ท่านสอนอริยสัจสี่ ไตรลักษณ์ ทื่อ ๆ แต่ศาสนาคริสต์แพรวพราวมาก ผมสงสัยว่าเขาสอนอย่างไร ผมไปที่โน้น ผมไปเปิดเคเบิลทีวีช่องหนึ่ง มีแต่เรื่องศาสนาคริสต์ ๒๔ ชั่วโมง เวลาบาทหลวงเทศน์ จัดเวทีน้อง ๆ คอนเสิร์ต มีทั้งหางเครื่องร้องเพลง เวลาพูดเขาไม่นั่งอย่างนี้ เขาเดินครับ มีไมค์ติดหน้าอก ทอล์คโชว์ดี ๆ นี่แหละ เดินไปพูดไปถือหนังสือไบเบิลเล่มหนึ่ง เวลาบาทหลวงเล่าเรื่องต้องแสดงท่าประกอบด้วย เช่นเล่าถึงความทุกข์ของมนุษย์ ผู้หญิงคนหนึ่งทุกข์ทรมานเหลือเกินอย่างนั้นอย่างนี้ หลวงพ่อพอดีไปเจอเข้าก็ปลอบ ผู้หญิงเล่าความทุกข์ให้หลวงพ่อฟัง หลวงพ่อฟังแล้ว เศร้าจริง ๆ น้ำตาไหลพูดถึงตรงนี้ แล้วน้ำตาบาทหลวงไหลจริง ๆ รักสงสารเธอ เศร้าใจกับชีวิตเธอ เล่าไปร้องไห้ไปด้วย คนเป็นพันในห้องประชุมฟังเงียบสะเทือนใจ ชนะใจคนฟัง การที่เขาสอนอย่างนี้ เราไปศึกษาจุดแข็งของเขาเอามาใช้ ผมไปที่ไปประชุมนานาชาติ ผมจะไปดูวิธีการว่าทำไมคนจึงมาสนใจฟังนักพูดดัง ๆ แม้แต่ศาสนาอื่นผมก็ไปดู
รู้เรารู้เขา ฉะนั้น สิ่งที่ผมใช้สอนบางส่วนมาจากการที่ไปดูนักเทศน์ศาสนาอื่นสอนกัน เราก็นำมาประยุกต์ อย่างที่ผมพูดบรรยายและใช้เรื่องเล่าประกอบ บางคนอาจจะนึกว่าผมเอามาจากหลวงตา แพร-เยื่อไม้ แต่ผมไปดูศาสนาอื่นเขาสอน เขามีเรื่องเล่าประกอบทั้งนั้น มีแต่พระไทยเท่านั้นสอนธรรมะแล้ว ยกเรื่องเล่าที่ไม่ค่อยเข้ากับธรรมะ นึกจะเล่าก็เล่า นึกจะจบก็จบ ไม่รู้ว่าสอนให้รู้เรื่องอะไร แต่นักเทศน์ดี ๆ ระดับโลกไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม ผมลองอ่านงานและนำมาวิเคราะห์ พบว่าเขาจะมีเรื่องเล่าประกอบทั้งสิ้น เขาเรียกว่าพูดเป็นบุคลาธิษฐาน แม้แต่พระพุทธเจ้ายังทรงเล่านิทานชาดกประกอบ อย่าไปดูถูกเรื่องเล่าประกอบ มีนักเทศน์คนหนึ่งสอนศาสนาฮินดู อยู่ที่ไมซอร์ (Misore) อินเดียใต้ ผมเคยไปนั่งฟัง เขาสอน พูดดีจริง ๆ ฝรั่งมากันเต็มหมด พูดภาษาอังกฤษได้ไพเราะ อลังการจริง ๆ ฝรั่งคลั่งไคล้มาก คนมากันมากมาย ในที่สุดเขาอยู่ไม่ได้คนในท้องที่ไม่พอใจ เอามีดปาใส่เฉียดคอไปนิดเดียว ต้องย้ายออกจากอินเดียไปอยู่อเมริกาเมืองโอเรกอน ซื้อหุบเขาทั้งหุบเขา คนในนั้น เป็นลูกศิษย์เขาหมด มีเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว มีรถโรลส์รอยส์ ๙๙ คัน มีอยู่ปีหนึ่งเขาไปเข้าปฏิบัติกัมมัฏฐาน ไม่พูดจากับมนุษย์ทั้งหลาย เก็บตัวเข้าเฝ้าพระเจ้า ให้ลูกศิษย์คุมงาน ปรากฏว่าลูกศิษย์ยักยอกเงินในธนาคารเอาไปหมด สานุศิษย์สองคนผู้หญิงผู้ชายเชิดเงินไปแต่งงานกัน ไม่มีเงินเสียภาษี รัฐเก็บภาษีย้อยหลัง เขาอยู่ในอเมริกาไม่ได้ต้องกลับและมาตายที่อินเดีย เพราะลูกศิษย์เป็นเหตุ นักเทศน์คนนี้ชื่อภควาน ราชนีศ
หาจุดแข็งจุดอ่อนในตัวเองให้พบ ผมขอวิเคราะห์จุดแข็ง (Strength) ของผม นั่นคือผมมีความคิดหรือมีไอเดีย (idea) จุดอ่อนคือยากที่จะสื่อสารให้คนตามทัน ถ้าผมพูดปรัชญาของฌอง-ปอล ซาตร์ให้ท่านฟัง ผมว่าไม่ถึงครึ่งชั่วโมงท่านจะหลับกันหมด แต่ถ้าเอาปรัชญานั้นมาผูกแต่งเป็นเรื่องเล่าให้ท่านฟัง ท่านจะฟังรู้เรื่อง ฉะนั้น เรื่องที่ท่านฟังผมพูด ที่จริงผมพูดให้ยากกว่านั้นได้ ขึ้นอยู่กับคนฟัง ผมอยากพูดเรื่องลึก ๆ แต่ปีหนึ่งจะได้พูดสักครั้งหนึ่งเพราะหาคนฟังยาก ส่วนมากก็พูดเรื่องเบา ๆ แต่ปีหนึ่งผมจะพูดเรื่องที่อยากพูดสักครั้ง หรือสองครั้ง เรื่อง“ขอบฟ้าแห่งความรู้” นั่นแหละที่สะใจผม ไอเดียที่ผมพูดแกะออกมาพิมพ์ได้เลย ผมค้นพบจุดแข็งในตัวผม ในการเป็นนักเผยแผ่พระพุทธศาสนา ผมมีฐานความคิด แต่ผมมีจุดอ่อนที่เหมือนกับนักคิดทั้งหลาย ในการสื่อให้คนเข้าใจได้ยาก ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ของนักคิด นักคิดทั้งหลายจะคิดเป็นนามธรรม จะคิดได้เร็ว แต่ถ้าให้พูดออกมา คนจะไม่รู้เรื่อง ทำนองเดียวกันกับสิ่งที่เรียกว่าภาษาคนภาษาธรรม ยิ่งผู้บรรลุธรรมถ่ายทอดมาเป็นภาษามนุษย์เราฟังไม่รู้เรื่อง นักคิดทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน เราก็มาดูจุดอ่อนตรงนี้ แล้วไปหาดูคนในวงการเดียวที่คล้ายกับเรา เขาแก้จุดอ่อนนี้อย่างไร ผมไปหาดู และลองใช้วิธีของเขา คนนี้แก้อย่างนี้ได้ผล เราก็แก้จุดอ่อน ในการเผยแผ่ของเราตามนั้น เพราะฉะนั้น นักคิดมักจะขาดความพยายามที่จะสื่อความรู้ความคิดที่มีให้คนเข้าใจ การสื่อให้คนรู้เข้าใจเป็นศิลปะ (Art) ศาสตร์คือความรู้ ศิลปะเป็นสิ่งที่ต้องสั่งสมฝึกฝน ผมพบว่าในลักษณะอย่างผม การใช้สื่อช่วยจะทำให้คนฟังตามได้ดีขึ้น เพราะความคิดของผมบางทีเป็นวิชาการที่ยากมาก ถ้าผมไม่เขียนลงแผ่นใสสักแผ่นเดียว คนฟังจะงง ผมถือภาษิตจีนว่า “ภาพหนึ่งภาพมีค่าเท่ากับคำพูดหนึ่งพันคำ” ผมเชื่อตามนั้นและผมก็ทำด้วย แทนที่ผมจะอธิบายเป็นพันคำ ผมฉายภาพให้ท่านดูสักหนึ่งภาพ ท่านก็เข้าใจดี แต่จะใช้วิธีนี้ได้ดีต่อเมื่อเรามีฐานความรู้ความคิดที่ลึก สามารถเอาภาพมาขยายให้ดูง่าย บางคนความคิดตื้นอยู่แล้ว ภาพก็ตื้น มันไม่ช่วยอะไร เราต้องวิเคราะห์ให้ได้ ผมเป็นนักเผยแผ่ ผมต้องวิเคราะห์จุดแข็งจุดเด่นของผม จุดอ่อนผมก็วิเคราะห์อย่างที่ผมพูดว่าสื่อช่วยผม ถ้าผมไม่มีสื่อ คนจะตามความคิดผมยาก เพราะว่าความคิดผมอาจจะเป็นปรัชญา ต้องมีสื่อมาช่วย ผมทดลองใช้แผ่นใสบ้าง Power point บ้าง ประหยัดเวลาดี เรื่องที่ ผมอยากจะพูดมีมาก มักจะมาทั้งระบบ ถ้าผมพูดบรรยายไปทั้งระบบอาจถึง ๖ ชั่วโมง คนจึงจะเข้าใจ เพราะฉะนั้น เรื่องยากนี่ ถ้าไม่มีสื่อ คนฟังจะรู้เรื่องภายใน ๖ ชั่วโมง แต่ถ้ามีสื่ออาจจะใช้เวลา ๒ ชั่วโมง ประหยัดเวลาด้วย ผมสามารถที่จะสื่อความคิดได้มากขึ้น เมื่อเช้านี้ ถ้าผมไม่มีพาเวอร์พอยต์ (Power Point) ตอนผมบรรยาย ให้พุทธศาสตรบัณฑิตใหม่ นั้น ผมอาจจะต้องพูดถึง ๔ ชั่วโมง คนถึงจะตามทัน แต่ผมใช้ พาเวอร์พอยต์ประหยัดเวลา เหลือแค่ ๒ ชั่วโมง เพราะฉะนั้น เราต้องดูจุดแข็งจุดอ่อนอะไรต่าง ๆ ทีนี้ถ้าไม่มีสื่อ เช่น เทศน์ตามศาลาวัด ขึ้นธรรมาสน์ มัวแต่ไปฉายพาเวอร์พอยต์อยู่ โยมไล่ลงแน่ หาว่าไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ในกรณีที่ไม่มีสื่อ จะทำอย่างไร? ผมใช้วิธีนี้ ถ้าไม่สามารถจะใช้สื่ออื่น ต้องฝึกทักษะ หรือศิลปะอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อเราใช้ภาพช่วยไม่ได้ เราต้องใช้ภาพที่คำพูด เรียกว่าพูดให้เห็นภาพ (Figurative speech) ต้องฝึกความสามารถในการเล่าเรื่อง ใช้คำพูดสั้น ๆ ไม่ต้องมากแต่คนเห็นภาพ เพราะความคิดของเรานั้นเป็นนามธรรม ธรรมะเช่น เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นธรรมาธิษฐาน ถ้าท่านสามารถสื่อออกมาให้เป็นเรื่อง ผูกโครงเรื่อง เล่าเรื่องประกอบ คนเห็นภาพและตามทัน ถ้าท่านไม่มีความสามารถตรงนั้น ท่านต้องใช้สื่อ แต่ก่อนผมก็ใช้แค่เครื่องฉายแผ่นใส (Overhead Projector) ใช้แผ่นใสเท่านั้น เดี๋ยวนี้ต้องใช้พาเวอร์พอยต์ (Power Point) ถ้าผมไม่ใช้สื่ออาจจะต้องพูดนานกว่าจะได้เรื่อง ผมนำสื่อและอุปกรณ์มาใช้เป็นจุดแข็งแก้จุดอ่อน อย่างได้ผลดี
โอกาสเป็นการท้าทาย ในการไปพูดที่ไหนครั้งแรก เราไม่ต้องไปหวังว่าจะต้องสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ ต่อให้ท่านเป็นนักพูดที่ดีขนาดไหน ถ้าท่านไปเวทีใหม่ ๆ เป็นครั้งแรก เช่น ท่านไปสอนในต่างประเทศปีแรก ท่านอย่าไปหวังผลร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถือว่าเป็นการเปิดตัว เป็นการสร้างโอกาสและแก้ไขปรับปรุงตัว ข้อสำคัญ คือโอกาสนั้นเป็นการท้าทาย รับงานใหม่ให้มาก งานท้าทายเรา และให้โอกาสเรา ตรงนี้เรียกว่าทำวิกฤตให้เป็นโอกาส ผมจะพาตัวเองเข้าไปหาโอกาสหรือวิกฤตต่าง ๆ เสมอ บางทีถ้าเป็นงานที่ยากและท้าทาย ผมจะรับพูด งานที่ยากสำหรับผม เช่น การประชุมนานาชาติ บางทีสหประชาชาตินิมนต์มาผมก็ไป เคยไปพูดที่อียิปต์ ซึ่งเป็นงานท้าทาย ตอนนั้นมีการประชุม เรื่อง ประชากรและการพัฒนา (Population and Development) ผู้จัดนิมนต์พระไทยไปรูปเดียวจากเมืองไทย อียิปต์เป็นประเทศอิสลาม ไม่ให้พระเข้าประเทศ คนเข้าประชุมประมาณ ๑๔,๐๐๐คน พอหนังสือนิมนต์มา ผมลังเลว่าจะไปดีหรือไม่ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ (Bangkok Post) รายงานว่าตอนนั้นมุสลิมหัวรุนแรงในอียิปต์ประกาศว่าถ้าใครมาประชุมจะยิงให้ตายหมด ทำไมมุสลิมหัวรุนแรงถึงจะยิงคนที่ไปประชุม ได้ความว่า เพราะการประชุมนี้สนับสนุนการคุมกำเนิด การคุมกำเนิดขัดกับพระประสงค์ของพระเจ้า พระเจ้าสร้างมนุษย์ แล้วสั่งว่าจงแพร่หลายต่อไป การคุมกำเนิดถือว่าขัดพระประสงค์ในคัมภีร์พันธสัญญาเดิม (Old Testament) ซึ่งอิสลามนับถือมาก เขาจึงแพร่หลายเกิดเอาเกิดเอาในประเทศไทย ส่วนพุทธถือ อพราหมจริยา เวรมณี คุมกำเนิด พูดแบบอิสลามก็คือ ใครมาพูดเรื่องคุมกำเนิดยิงให้ตายหมด ผมจะให้ไปเผยแผ่ที่นั่นก็มีสิทธิ์ถูกยิงตาย ต่อมา มีข่าวว่าตอนนั้นเขาจับพวกหัวรุนแรง ๔๐๐ คนเข้าคุกแล้ว ปลอดภัยดี ผมก็ตกลงไป พอไปถึงอียิปต์ ตำรวจคุ้มกันตั้งแต่สนามบิน นี่คือการใช้วิกฤตเป็นโอกาส
วิเคราะห์ตัวท่านเอง ที่ผมพูดมานี้เป็นการใช้ สวอท อนาลิซิส (SWOT Analysis) กับตัวเอง จุดแข็งของท่านอยู่ตรงไหนในการเป็นนักเผยแผ่? จุดอ่อนของท่านอยู่ตรงไหน? ปิดตรงนั้น ผมเล่าแล้วว่าจุดอ่อนของผมอยู่ที่ความคิดเป็นนามธรรมมาก ผมแก้ด้วยการ ๑. ใช้สื่อ ๒. พูดให้เห็นภาพ ๓. ใช้เรื่องเล่าประกอบ บางท่านมีจุดอ่อนคนละแบบกับผม อาจไม่ต้องใช้วิธีของผม แต่ท่านต้องหาอุปกรณ์มาช่วย ข้อที่ผมใช้มากคือเรื่องโอกาส (Opportunity) เราต้องหาโอกาสพัฒนาตนเองตลอดเวลา ไปพูดในเรื่องที่เราไม่เคยพูดบ้าง เข้าไปในดินแดนที่ท้าทาย ลองดูว่าเราจะสร้างความสามารถใหม่ขึ้นได้หรือไม่ เพราะฉะนั้น ลักษณะบุกเบิกทำให้ผมเผยแผ่ไม่หยุดและก็ไม่ตกยุค บางท่านดังขึ้นมาสักระยะหนึ่งคือดังอยู่ยุคหนึ่ง แต่ก็มีคนอื่นขึ้นมาแทน เรียกว่าล้าสมัยไปเพราะไม่แสวงหาโอกาสที่จะพัฒนาตนเอง ผมต้องแสวงหาความรู้ใหม่ความคิดใหม่และ วิธีการใหม่ตลอดเวลา และรู้ว่าสิ่งที่คุกคาม (Threat) ของเราคืออะไร ถ้าท่านไม่ก้าวไปข้างหน้า คนอื่นจะแซงท่านไป ในการเผยแผ่ เช่น คนรุ่นใหม่พูดภาษาอังกฤษดีกว่ารุ่นเรา เขาเรียนเอกอังกฤษ มีสื่อเยอะกว่ารุ่นผมเรียนภาษาอังกฤษ สมัยนี้มีทั้งเทปวีดิทัศน์ คอมพิวเตอร์สอนภาษาอังกฤษ รุ่นหลังต้องเก่งภาษาอังกฤษกว่ารุ่นผม ต้องดีกว่า และก็ดีกว่าจริง ๆ ในมหาจุฬาฯ ผมเห็นบางรูป พูดภาษาอังกฤษดีกว่าสมัยผมอายุเท่าเขา นี่คือคลื่นลูกใหม่ เพราะโอกาสในการเรียน เพราะสื่ออุปกรณ์ดีกว่า การเผยแผ่หรือการเทศน์ก็เหมือนกัน เราต้องหาทางพัฒนาบุกเบิกทำงานตลอดไป
ไม่สันโดษในการทำดี พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่าไม่ให้สันโดษในการทำความดี ไม่ให้พอใจ กับความสำเร็จครึ่ง ๆ กลางๆ กุสเลสุ ธมฺเมสุ อสนฺตุฏฺฐิตา เมื่อทำอะไรอย่าทำเหยาะแหยะ ต้องทำให้สำเร็จ ให้รู้กันไปข้างหนึ่งว่า ระดับเราหรือจะทำไม่ได้ นั่นคือข้อแรก ไม่สันโดษในกุสลธรรม ข้อที่สอง อปฺปฏิวาณิตา ปธานสฺมึ ไม่ท้อถอยในการบำเพ็ญเพียร อย่ายอมแพ้ง่าย ๆ ไปที่ไหนก็ตาม เราจะมีเวทีใหม่ มีแนวรบใหม่เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศ หรือต่างประเทศ จบหลักสูตรธรรมทูตแล้ว ให้ทำงานอย่าง มีมรรคมีผล ไม่เหยาะแหยะ เอาจริงเอาจัง ในขณะทำงานนั้นพัฒนาตนเองไปด้วย สร้างโอกาสไปด้วย หาจุดอ่อนแล้วแก้ไขให้ได้ และเราจะขึ้นเป็นแชมป์ได้ ไม่ท้อถอยในการบำเพ็ญเพียร และในการทำความดี “ล้มเพราะก้าวไปข้างหน้าดีกว่ายืนเต๊ะท่าอยู่กับที่” หลวงตา แพร-เยื่อไม้พูดไว้นานแล้ว เราจะได้มีโอกาสแก้ไข ปรับปรุงตนเอง และพัฒนาตนเองตลอดเวลา วิเคราะห์ตัวเองให้พบว่า อะไรคือจุดแข็ง แล้วใช้จุดแข็งนั้นเป็นตัวนำ ทุกคนมีจุดแข็งจุดอ่อน ถ้าผมวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของนักเผยแผ่ จะมีอยู่สี่ประเด็นที่เอามาใช้วิเคราะห์เสมอก็คือสี่ ส. ผมเอาคำนี้ไปใช้ในระบบการศึกษาของชาติ คือการสอนโรงเรียนทั่วประเทศ ใช้ตรงนี้เป็นจุดวิเคราะห์ ผมเรียกว่า ทฤษฎีสี่ ส. ซึ่งผมใช้อบรมครูทั่วประเทศดังนี้ ๑. สัททัสสนา (แจ่มแจ้ง) คือพูดให้คนฟังเข้าใจแจ่มแจ้งเหมือนเห็นกับตาตัวเองถ้าจะพูดบรรยายให้ได้ขนาดนี้ นักพูดต้องเข้าใจชัดเจนในเรื่องที่ตนเองจะพูด อย่าพูดในเรื่องที่ตนเองไม่เข้าใจคือท่องไปพูด อย่าพูดในเรื่องที่ตนเองก็ไม่รู้ ตรงนี้แหละที่จะบอกว่าการที่จะเป็นนักเขียนที่ดี ท่านจะต้องอ่านหนังสือหลายร้อยเล่ม การที่จะเป็นนักพูดที่ดี ท่านจะต้องฟังมาหลายร้อยหลายพันชั่วโมง นี่คืองานที่ท้าทายความสามารถของเรา และเราจะต้องพยายามทำให้ได้ นักพูดที่พูดได้แจ่มแจ้งนั้น สามารถที่จะทำให้ผู้ฟังทุกระดับเข้าใจได้ เมื่อคนฟังเทศน์ของพระพุทธเจ้าจบลงแต่ละครั้งจะมีผู้ชมในตอนท้ายว่า “อะภิกกันตัง อภิกกันตัง แจ่มแจ้งนัก พระองค์ผู้เจริญ แจ่มแจ้งนัก พระองค์ผู้เจริญ เทศนาของพระองค์นั้น เหมือนกับหงายของที่คว่ำ จุดประทีปในที่มืด บอกทางแก่คนหลงทาง” ๒. สมาทปนา (จูงใจ) ปลุกใจให้อยากรับธรรมไปปฏิบัติ การพูดที่ดีต้องทำให้ผู้ฟังเกิดศรัทธา มีผลในทางเปลี่ยนเจตคติหรือพฤติกรรมของคน การสอนที่ทำให้เกิดศรัทธาเรียกว่า สมาทปนาคือจูงใจให้น้อมรับเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน ๓. สมุเตชนา (แกล้วกล้า) บางครั้งผู้ฟังเกิดศรัทธาแต่ไม่นำไปปฏิบัติโดยอ้างว่า ทำไม่ได้รู้ว่าการเลิกเสพสุรานั้นดีแต่ทำได้ยาก โดยมากมักแก้ตัวว่า “ฉันรู้ทั้งหมด แต่ฉันอดไม่ได้” คนฟังทำตามไม่ได้เพราะขาดกำลังใจ ผู้พูดต้องให้กำลังใจด้วยการยกตัวอย่างผู้ประสบความสำเร็จมาประกอบในการพูด ๔. สัมปหังสนา (ร่าเริง) ฟังผู้พูดแล้วไม่เครียด มีความสุข สนุกในการฟัง คนพูดมีอารมณ์ขัน ยกนิทานมาประกอบในการพูด ผู้ฟังเกิดความปีติในธรรม “ธัมมะระโส สัพพะระสัง ชินาติ รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง” ฟังธรรมแล้งสบายใจเกิดความสุข นักพูดควรจะพูดให้ได้ครบ ๔ ส. ใครทำได้ครบ ๔ ส. ถือว่าเป็นนักพูดชั้นเอก ใครทำได้ ๓ ส. เป็นนักพูดชั้นโท ใครทำได้ ๒ ส. เป็นนักพูดชั้นตรี ใครทำได้ ส. เดียวเป็น มือใหม่หัดพูด เป็นชั้นนวกภูมิ ในการเผยแผ่ที่ผ่านมา ผมถามท่านว่าในสี่ข้อนี้ ข้อไหนคือจุดแข็งของท่าน ซึ่งท่านทำได้ดีที่สุด ในสี่ข้อนี้มีข้อไหนที่ท่านทำไม่ได้เป็นจุดอ่อนของท่าน
ทำงานเป็นทีม ทุกคนมีจุดอ่อนด้วยกันทั้งนั้น ถ้าเราไม่สามารถจะแก้จุดอ่อนของเราได้เอง ต้องหาคนที่มีจุดแข็งตรงกับจุดอ่อนของเรามาช่วยสนับสนุนเรา สร้างเครือข่าย (Network) ในยุคนี้พระธรรมทูตจะอยู่ลำพังคนเดียวไม่ได้ บินเดี่ยวคงยาก ถ้าท่านจะทำงานให้ประสบความสำเร็จ ท่านต้องเอาทีมมาเสริม ถ้าจุดแข็งไม่มีอยู่ในทีมของเรา ท่านต้องเอาฆราวาสมาช่วย เอาคนมาแปลธรรมเป็นภาษาอังกฤษ ใช้คนที่มีจุดแข็งมาเสริมจุดอ่อนของเรา ตรงไหนเป็นจุดอ่อน ให้เอาคนอื่นมาช่วยเสริม ตรงไหนเรามีจุดแข็งเราลุยเราทำ แต่จะมีทีมมาหนุนหลัง (back up) ไม่เว้นแม้แต่งานวิชาการระดับโลก ผมไปบรรยายให้นักเทคนิคการแพทย์ฟัง ผมปาฐกถาที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์เมื่อ ๗ วันที่ผ่านมา พอผมลงมาจากเวที ศาสตราจารย์คนหนึ่งแนะนำตนเองว่าเขาทำการวิจัยเรื่องหนึ่งดังไปทั่วโลก สมาคมแพทย์ในอังกฤษส่งตั๋วเครื่องบินให้เขาบินไปกับครอบครัวเพื่อนำเสนอเรื่องนี้ในที่ประชุม งานชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษไปทั่วโลก ผมถามว่าทำวิจัยเรื่องอะไร เขาบอกว่าทำวิจัยเรื่องกลิ่นตัวมนุษย์ ไม่เคยมีใครทำ วิจัยเรื่องกลิ่นตัว เขาบอกว่ากลิ่นตัวทำให้บางคนอยากฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะผู้หญิง เขาวิจัยแล้วพบว่าคนที่มีกลิ่นตัวมีข้อบกพร่องในยีนส์ คือ ดีเอ็นเอบกพร่อง ทำไมคนจึงมีกลิ่นตัว เขาบอกว่าในกระแสเลือดเรานี้จะมีสารอาหาร ซึ่งทำให้คนมีกลิ่นตัว สารตัวนี้ถ้าไม่ถูกทำลายจะสร้างกลิ่นตัว ท่านลองฉันทุเรียนไปเยอะ ๆ กลิ่นตัว จะเป็นกลิ่นทุเรียน ไปหมด แสดงว่าสารอาหารสร้างกลิ่นตัว คนปกติจะมีสารอย่างหนึ่งในร่างกาย ที่ออกมาจากตับช่วยกำจัดสารอาหารนั้นไม่ให้มันเข้าไปในกระแสเลือด แต่คนมีกลิ่นตัวเพราะสารตัวนี้บกพร่อง อาหารต่าง ๆ ที่สร้างกลิ่น จึงเข้าไปในกระแสเลือด และปัสสาวะ ๆ กลิ่นตัวก็จะเหม็น ผู้วิจัยคนนี้ไปเที่ยวขอปัสสาวะของคนที่สืบดูว่ามีกลิ่นตัว นำเข้าเครื่องตรวจวัด พบว่ามีจุดบกพร่องในตัวคน ถามว่าจุดบกพร่องนี้เกิดจากอะไร ในที่สุดก็สันนิษฐานว่ามาจากดีเอ็นเอ ซึ่งมีสี่ตัว ถ้าตัวที่สามหายไปก็เกิดบกพร่อง แสดงว่ากลิ่นตัวมาจากการที่ดีเอ็นเอตรงนี้บกพร่อง ต้องใช้ห้องแล็บชั้นเยี่ยมวิเคราะห์ดีเอ็นเอ ในประเทศไทยก็ทำได้ เขาขอความร่วมมือนักวิเคราะห์ในห้องแล็บช่วยวิเคราะห์ดีเอ็นเอเพราะ เขาไม่มีเครื่องมือ ซึ่งต้องใช้เครื่องมือชั้นเยี่ยม ในประเทศไทยก็มีห้องแล็บอยู่แห่งหรือสองแห่ง เขาก็ส่งจดหมายไป ในต่างประเทศมีมหาวิทยาลัยชั้นเยี่ยม เขาส่งจดหมายไปเล่าเรื่องนี้ ขอให้ช่วยวิเคราะห์ดีเอ็นเอตรงนี้ ส่งตัวอย่างไปให้ช่วยวิเคราะห์ด้วย เชื่อไหมว่าห้องแล็บในประเทศไทยไม่เคยตอบมาเลย แต่ห้องแล็บในอเมริกาและอังกฤษตอบมาว่าเขาจะวิเคราะห์ให้ฟรีเพื่อความก้าวหน้าในทางวิชาการ เขาใช้เวลาวิเคราะห์อยู่หนึ่งปี เพราะมันซับซ้อนยุ่งยากมาก พอวิเคราะห์เสร็จส่งผลมาให้ โดยไม่เรียกร้องอะไรเลย เขาบอกว่าขอให้คุณทำวิจัยต่อไป ถามว่าทำไมฝรั่งไม่ทำวิจัยเอง ตอบว่าฝรั่งสู้เราไม่ได้อยู่อย่างคือเขาไม่มีตัวอย่างของคนที่มีกลิ่นตัวอยู่ในมือ แต่ศาสตราจารย์คนไทยนี้ได้หาตัวอย่างไว้หมดแล้ว นี่คือตัวอย่างว่า นักวิจัยไทยทำงานเรื่องนี้ได้เพราะเขามีตัวอย่างไว้หมด ฝรั่งทำไม่ได้ แต่ฝรั่งมีจิตเอื้ออาทรวิเคราะห์ดีเอ็นเอให้หนึ่งปี ซึ่งถ้าไม่มีการวิเคราะห์ตรงนี้ นักวิจัยไทยไม่มีทางขึ้นระดับอินเตอร์เพราะการวิเคราะห์ดีเอ็นเอเป็นวิชาการสุดยอด ฝรั่งยอมตรงนี้ แต่ถ้าถามว่าได้ผลวิเคราะห์มาจากไหน ตอบว่าจากอเมริกาหรืออังกฤษซึ่งทำให้ฟรี นี่คือการแลกเปลี่ยนข้อมูล ฝรั่งจึงเจริญล้ำหน้า เพราะเขาร่วมกันทำงานเป็นทีม ต่อไปนี้ พวกเรามาร่วมกันทำงานอย่างนี้ จะได้เจริญก้าวหน้า ท่านไปเป็นพระธรรมทูตก็เชื่อมกันเป็นเครือข่าย ใครเทศน์เก่งก็นิมนต์มาเทศน์วัดเราบ้าง แบ่งคนอื่นทำงานในสิ่งที่เรามีจุดอ่อน เราจะทำงานเป็นทีมที่สมบูรณ์ เหมือนกับงานวิจัยที่เล่ามานี้ ขอคุณพระศรีรัตนตรัยจงดลบันดาลให้ทุกท่านจงประสบความสำเร็จ ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรในโลกตะวันตก โลกตะวันออก เป็นที่พึ่งของคนไทยและคนทั่วโลก มีความเจริญงอกงามในร่มธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายิ่ง ๆ ขึ้นไปทุกรูป เทอญ

(ที่มา: บรรยายในการฝึกอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ จัดโดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ณ พุทธมลฑล นครปฐม วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๖ )

พุทธศาสนาในไทยสมัยปัจจุบัน

''พระพุทธศาสนาในประเทศไทยสมัยปัจจุบัน'' พระธรรมโกศาจารย์ (2547)
ในนามของมหาเถรสมาคมแห่งประเทศไทย ข้าพเจ้าขออนุโมทนาต่อชาวพุทธศรีลังกาในโอกาส ฉลองครบ ๒๕๐ ปีแห่งการ สถาปนาคณะสงฆ์ สยามนิกายในศรีลังกา เพื่อดำเนินตามปฏิปทาของพระอุบาลี มหาเถรสมาคมได้มอบหมายให้ ข้าพเจ้าเข้าร่วมประชุมพระพุทธศาสนานานาชาติครั้งนี้เพื่อแสดงเจตนาของเราในการกระชับความ สัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์ศรีลังกา และคณะสงฆ์ไทย เรื่องราวความสำเร็จ ของท่านพระอุบาลีเตือนให้เราระลึกว่า ในโลกปัจจุบันยุคโลกาภิวัตน์ คณะสงฆ์ศรีลังกาและคณะสงฆ์ไทย จะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อประโยชน์แห่งพระพุทธศาสนา
ศรีลังกาและไทยมีประวัติความ สัมพันธ์ทางด้านศาสนาที่ยาวนาน
พระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศไทยได้ชื่อว่าลังกาวงศ์ ทั้งนี้เพราะเมื่อ ๗๐๐ ปีที่ผ่านมา พ่อขุนรามคำแหงได้อาราธนาหัวหน้าพระสงฆ์ศรีลังกามาจากนครศรีธรรมราชในภาคใต้ มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ที่กรุงสุโขทัย และเมื่อ ๒๕๐ ปีที่ผ่านมา ชาวไทยได้มีโอกาส ตอบแทนคุณของศรีลังกาด้วยการที่พระเจ้าบรมโกษฐ์ ทรงส่งพระอุบาลีและคณะมาฟื้นฟูการอุปสมบทใน ศรีลังกาหลังจากที่ สมณวงศ์ในเกาะลังกาได้ขาดสูญไป เพราะการกดขี่ของโปรตุเกส แต่ด้วยความเสียสละ ที่ยิ่งใหญ่ของพระอุบาลี การอุปสมบทก็ได้รับการฟื้นฟู และมีการสถาปนาสยามนิกายในศรีลังกา
เราทั้งหลายต่างมาประชุมกันที่นี่ เพื่อรำลึกถึงคุณูปการอันยิ่งใหญ่ ที่พระอุบาลีได้ทำไว้แก่พระพุทธศาสนาในศรีลังกา ขณะที่พระอุบาลี ตัดสินใจเดินทางมาศรีลังกา นั้น ท่านอาจจะรู้ตัวว่านี่เป็นการเดินทาง ที่ไม่มีวันกลับ ท่านพร้อมที่จะสละชีวิตของท่าน เพื่อประโยชน์แก่มนุษยชาติ และเพื่อการประกาศพระพุทธศาสนา ท่านได้ปฏิบัติตาม พระพุทโธวาทที่ประทานแก่ พระอรหันต์ ๖๐ รูป ซึ่งเป็นพระธรรมทูตรุ่นแรกว่า "จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชน สุขาย โลกานุกมฺปาย ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก" พระอุบาลีถึงแก่มรณภาพ ที่ศรีลังกา หลังจากใช้เวลาฟื้นฟูวงศ์อุปสมบท ในเกาะนี้ได้ ๓ ปี โดยส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่าพระอุบาลีเป็นพระธรรมทูตผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่าพระอุบาลีไม่เพียงแต่ดำเนินภารกิจในศรีลังกาให้ลุล่วงไปเท่านั้น แต่ยังประ บความ สำเร็จในการ ถาปนาคณะสงฆ์นิกายใหญ่ที่ สุดในศรีลังกาซึ่งขนานนามนิกายนี้ตามชื่อของประเทศมาตุภูม ิและชื่อพระอุบาลีว่า ยาโม ปาลีมหานิกาย หรือเรียกง่าย ๆ ว่า สยามนิกาย
นับเป็นเรื่องน่าสนใจที่ว่าพระพุทธศาสนานิกายสำคัญในศรีลังกามีชื่อว่า สยามนิกาย ขณะที่พระพุทธศาสนาในประเทศไทยมีชื่อว่าลังกาวงศ์ ทั้งนี้เพราะข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ที่ว่าประเทศไทยยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทจากศรีลังกา ในสมัยสุโขทัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๒ และยังอนุรักษ์ประเพณีตามหลักพระไตรปิฎกพร้อมทั้งรักษา สมณวงศ์ไม่ให้ขาดสูญตั้งบัดนั้น เป็นต้นมา
ในประเทศไทย สมัยปัจจุบัน พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ ภายใต้บทบัญญัต แห่งรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ในฐานะองค์พระประมุขของชาติทรงเป็นพุทธมามกะ พระมหากษัตริย์ และรัฐร่วมกันอุปถัมภ์ บำรุงกิจการคณะสงฆ์ และส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในหมู่ประชาชน จากการสำรวจประชากรครั้งล่าสุด ประเทศไทยมีประชากร ๖๓ ล้านคน และคนไทยร้อยละ ๙๔ นับถือพระพุทธศาสนา ตาม สถิติเมื่อปี ๒๕๔๕ ทั่วทั้งประเทศไทย มีวัดอยู่ ๓๒,๐๐๐ วัด พระภิกษุ ๒๖๕,๙๕๖ รูป และ สามเณร ๘๗,๖๙๕ รูป
นอกจากมีวัดป่าหลายวัด ซึ่งเป็นวัดที่พระจะเข้าไปปฏิบัติธรรม ระยะยาวได้แล้ว ยังมีวัด อยู่เกือบทุกหมู่บ้าน และในตัวเมืองเอง ก็มีวัดหลายวัดด้วยกัน ตามปกติโรงเรียนตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของวัด และพระสงฆ์เองนั้นเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างแข็งขัน ตามความพยายามของรัฐ ที่ประสงค์จะยกระดับ การศึกษาของประเทศชาติทั้งหมด ดังนั้น พระพุทธศาสนาและพระสงฆ์ จึงสัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งในชีวิตประจำวันของประชาชนในประเทศไทย
ประเทศไทย ในปัจจุบันนี้ มีนิกายฝ่ายเถรวาท ๒ นิกาย คือมหานิกายและธรรมยุตนิกาย มหานิกายมีจำนวนมากกว่า และสืบเชื้อสายตรงมาจากการ สถาปนาคณะสงฆ์ลังกาวงศ์ในยุคสุโขทัย ส่วนธรรมยุตนิกายได้ สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖ โดยเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเป็นนิกายเล็กกว่า มุ่งเน้นการปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด แต่ทั้งสองนิกายก็อยู่ภายใต้การปกครอง ของมหาเถรสมาคม และ สมเด็จพระสังฆราช การปฏิรูปภายในองค์กรระยะต่อมา ได้ลดความแตกต่างระหว่างนิกายลงมาก
ในศตวรรษที่ผ่านมา คณะสงฆ์ในประเทศไทยได้ปกครองตัวเองอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับที่หนึ่ง (พ.ศ. ๒๔๔๕) พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๘๔) และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับล่าสุด ซึ่งตราออกเป็นพระราชบัญญัติเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ศ. ๒๕๓๕ และยังมีคณะสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่ายที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย คือ ฝ่ายมหายาน ที่แบ่งเป็นจีนนิกายและอนัมนิกาย และฝ่ายเถรวาทที่แบ่งเป็น มหานิกายและธรรมยุตนิกาย ทั้งฝ่ายเถรวาท และมหายานต้องอยู่ภายใต้การปกครองของ สมเด็จพระสังฆราช ผู้ที่มหากษัตริย์ทรงสถาปนาขึ้นจากนิกายใดนิกายหนึ่งในฝ่ายเถรวาท และจะดำรงตำแหน่งพระสังฆราช ไปจนตลอดพระชนม์ชีพ สมเด็จพระสังฆราชมีมหาเถรสมาคมเป็นผู้ช่วยสนองงาน มหาเถรสมาคมนี้มีกรรมการถาวรโดยตำแหน่งจำนวน ๘ รูป และกรรมการที่ สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งอีกจำนวน ๑๒ รูป
มหาเถรสมาคมมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ ออกกฎระเบียบ และแต่งตั้งผู้บริหารงานคณะสงฆ์ทั้งสองนิกาย การบริหารคณะสงฆ์ม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคมเป็นหน่วย สนองงาน สำนักงานนี้ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างคณะสงฆ์กับรัฐ เพื่อให้เกิดความร่วมมือกลมเกลียวกัน ทั้งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลพระภิกษุสามเณรและอาราม โดยจัดสรรงบประมาณอุดหนุนจากรัฐ และมีหน้าที่ส่งเสริมการบริหารงานของพระสังฆาธิการ
เมื่อว่าตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ คณะสงฆ์ไทยมีการจัดองค์กรอย่างดี วัดนับหมื่นวัดและพระภิกษุสามเณรประมาณ ๓ แสนรูป อยู่ภายใต้การบริหารแบบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง และคณะสงฆ์ได้รับการยอมรับและอุปถัมภ์จากรัฐ ซึ่งทำให้กิจการคณะสงฆ์ การศึกษาและพิธีกรรม มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การปกครองคณะสงฆ์ ที่มีการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางนี้ ทำให้กิจการคณะสงฆ์ ได้รับการดูแลใกล้ชิด สามารถรักษาระเบียบวินัย และมีช่องทางการติดต่อสื่อสาร ระหว่างศูนย์กลางการบริหาร กับจังหวัดที่ไกลออกไป เนื่องจากมีการจัดองค์กรแบบนี้ การประสานร่วมมือและความปรองดองกับรัฐจึงคงมีอยู่ได้ และพระสงฆ์เองก็มี ส่วนสร้างความ สามัคคีในหมู่ประชาชนและรักษาความมั่นคงของชาติ แต่เมื่อมองอีกมุมหนึ่ง องค์กรที่มีการรวมเข้า สู่ศูนย์กลางเช่นนี้ต้องพึ่งพาอาศัยคณะผู้นำจำนวนน้อย ซึ่งจะมีข้อจำกัดตรงที่ไม่ สามารถตอบรับต่อ ภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที
ปัจจุบันจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายคณะสงฆ์ฉบับใหม่ มีการยกร่างและอภิปราย พระราชบัญญัติปฏิรูปคณะสงฆ์ขึ้นมา จะมีการปรับโครงสร้างการบริหารคณะสงฆ์ชนิดที่ว่า จะมีการกระจายอำนาจของมหาเถรสมาคม ให้คณะกรรมการบริหารเรียกว่า มหาคณิสรมาช่วยสนองงาน
ในการจัดการศึกษาให้พระภิกษุสามเณร มหาเถรสมาคมมีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษา ระบบการศึกษาแบบเดิม คือ การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม และแผนกบาลี แผนกธรรมจัดเป็น ๓ ชั้น แผนกบาลีจัดเป็น ๙ ชั้น แผนกธรรม ซึ่งสอนธรรมเป็นภาษาไทยมุ่งจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำหรับพระภิกษุสามเณร
ส่วนนักเรียนบาลี จะต้องศึกษาเล่าเรียน พระไตรปิฎก และอรรถกถา วิชาแปลมคธเป็นไทยและวิชาแปลไทยเป็นมคธ สามเณรที่ สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยคจะได้รับการอุปสมบทซึ่งอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ ภาษาบาลีเป็นภาษาที่ยากต่อการเล่าเรียน เพราะส่วนใหญ่เน้นการท่องจำ อย่างไรก็ตามรัฐได้รับรองเปรียญธรรม ๙ ประโยค ซึ่งเป็นเปรียญธรรมชั้นสูงสุดให้มีค่าเทียบเท่าชั้นปริญญาตรีเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ พระภิกษุสามเณรจึงขาดความ สนใจในการศึกษาภาษาบาลี คณะสงฆ์ประสงค์จะให้รัฐรับรองเปรียญธรรม ๙ ประโยคให้มีค่าเทียมเท่าชั้นปริญญาเอก โดยพร้อมที่จะปรับปรุงหลักสูตรให้มีการเขียนวิทยานิพนธ์เป็นภาษาบาลี
เราจะมีวิธีการอย่างไร ที่จะเรียนภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาที่ตายแล้วให้ง่ายขึ้น เหมือนสมัยก่อนโน้น ที่เรา สามารถใช้ภาษาบาลีพูดจาสื่อสารกันเองได้ในกลุ่มประเทศต่าง ๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ภาษาบาลีน่าจะถูกกำหนดให้เป็นภาษานานาชาติของกลุ่มประเทศนับถือพระพุทธศาสนา เหมือนภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาที่คนทั่วโลกใชสื่อสารกัน เช่น ในการประชุมเช่นนี้ เอกสารสิ่งตีพิมพ์น่าจะกำหนดเป็นภาษาบาลีได้
การจัดการศึกษาพระพุทธศาสนา แบบสมัยใหม่ในประเทศไทยนั้น ดำเนินการโดย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา ๒ แห่ง คือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ที่มีพระสงฆ์เป็นผู้บริหารสูงสุด มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ได้รับงบประมาณ สนับสนุนจากรัฐบาลไทย จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก เปิดสอนทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีวิทยาเขต ๑๐ แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศมีวิทยาลัยสงฆ์ ๔ แห่ง โครงการขยายห้องเรียน ๑๐ แห่ง และ สถาบันสมทบ ๓ แห่ง ซึ่งรวมที่เกาหลีใต้และไต้หวัน สาขาของมหาวิทยาลัยทั้งหมดเชื่อมโยงกันด้วยเครือข่ายเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเปิดสอน ๔ คณะ คือ คณะพุทธศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์
ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้มีการก่อตั้งโครงการหลักสูตรนานาชาติระดับบัณฑิตศึกษาสอนเป็นภาษาอังกฤษ โครงการหลักสูตรนานาชาตินี้ได้รับความ สนใจจากนักศึกษาและครูอาจารย์จากต่างประเทศ เพื่อศึกษาพระพุทธศาสนาและปรัชญาระดับสูงยิ่งขึ้นไป ถือว่าเป็นการรักษางานวิชาการ ที่เป็นเนื้อหาทางพระพุทธศาสนาระดับนานาชาติ เครือข่ายวิทยาเขตทั่วประเทศ ของมหาวิทยาลัยพยายามที่จะยกระดับการศึกษาและปฏิบัติธรรมในคณะสงฆ์ ตลอดทั้งผลิต พระสงฆ์ที่มีความสามารถ สอนพุทธธรรม ได้อย่างถูกต้องและบรรยายธรรมอย่างมีเหตุผล สอดคล้อง กับเหตุการณ์ร่วม สมัยและเรื่องราวปัจจุบัน อีกนัยหนึ่ง เราออกแบบหลักสูตรเพื่อผลิตพระสงฆ์ให้ สามารถจัดการปัญหาของชุมชนได้
ในโครงการหลักสูตรนานาชาติ เราต้องการครูอาจารย์ที่เชี่ยวชาญการ สอนเป็นภาษาอังกฤษ รวมทั้งช่วยประเมินผลและตรวจวิทยานิพนธ์ภาษาอังกฤษ เราอยากให้มีการแลกเปลี่ยนครูอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาต่างประเทศกับสถาบันอื่น ๆ และเพื่อเป็นสะพานเชื่อมเครือข่ายทั่วโลก
เกี่ยวกับการจัดให้มีการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาตามโรงเรียนนั้น คณะสงฆ์ไทยได้เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการให้ออกคำสั่งให้มีการสอนวิชาพระพุทธศาสนาแก่นักเรียน ทุกระดับนับตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ อย่างไรก็ดี โรงเรียนถูกปล่อยให้กำหนดรายละเอียดของหลักสูตรเอง แม้ว่าระดับความเข้าใจในวิชาพระพุทธศาสนา ในเขตการศึกษาจะไม่ค่อยตรงกัน และเพี้ยนไปบ้างในบางกรณีก็ตาม ดังนั้นจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องให้มีหลักสูตรแกนกลาง เป็นเครื่องชี้ทางให้นักการศึกษา แต่ละท้องถิ่นทำหลักสูตรพระพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้องตรงกัน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้รับภาระร่างหลักสูตรแกนกลางวิชาพระพุทธศาสนา ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจที่ขอรายงานให้ท่านทั้งหลายทราบว่า หลักสูตรแกนกลางนี้สำเร็จสมบูรณ์แล้ว และกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้ทุกโรงเรียนนำไปใช้แล้ว
หลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนาตั้งแต่ชั้นระดับประถมศึกษาตอนต้นถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้บรรจุพุทธประวัติ ชาดก พุทธธรรมพื้นฐาน และแนะนำพระไตรปิฎก รวมทั้งศัพท์สำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกด้วย
หลักสูตรได้รับการออกแบบให้นักเรียน มีความเข้าใจเกี่ยวกับพระสงฆ์ หน้าที่ และบทบาทของพระภิกษุด้วย นอกจากจะมีคุณค่าทางด้านการศึกษาแล้ว เราเชื่อแน่ว่าหลักสูตรนี้จะส่งเสริมพระพุทธศาสนา โดยให้เด็กได้รับคำสอนที่มีค่า และจะปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา โดยประกันว่าเด็กจะได้รับการสอนพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง
ประเด็น สำคัญที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาอีกอย่างหนึ่ง คือการปฏิบัติกรรมฐาน ในประเทศไทย ทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ได้รับการฝึกสอน และปฏิบัติกรรมฐานกัน ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรม และวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งที่บ้าน
วัดในประเทศไทย มี ๒ ประเภท คือ วัดป่ามีพระสายปฏิบัติทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่ง สายนี้เรียกว่าอรัญญวาสี และวัดบ้านที่มีพระภิกษุสามเณรศึกษาเล่าเรียน และจะเป็นทายาทบริหารงานคณะสงฆ์ ซึ่งสายนี้เรียกว่าคามวาสี การแยกวัดป่าออกจากวัดเมืองหมายความว่า มีพระภิกษุสามเณรที่ศึกษาเล่าเรียนแต่ไม่ใคร่ปฏิบัติธรรม และมีพระภิกษุสามเณรที่ปฏิบัติธรรม แต่ไม่ใคร่ศึกษาเล่าเรียน เราจึงพยายามที่จะรวมพระสงฆ์ทั้งสองสายนี้ โดยให้การปฏิบัติกรรมฐานเป็นวิชาบังคับแก่นิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และจัดให้มีการปฏิบัติธรรมประจำปีโดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร
เมื่อเราถือว่าการรักษาพระวินัยของพระสงฆ์และการรักษาศีล ๕ ของคฤหัสถ์ เป็นการปฏิบัติธรรมด้วยแล้ว เราจำเป็นยอมรับข้อเท็จจริงด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงยุคใหม่ทำให้ สังคมเกิดความแตกแยกและเกิดความเสื่อมทางด้านศีลธรรมส่วนตัวอย่างรวดเร็ว ชาวพุทธเองก็ไม่พ้นกฎข้อนี้ไปได้ และยังมีเรื่องฉาวโฉ่ทางกามโลกีย์ ความรุนแรง อาชญากร และการเสพย์ยาเสพติด ซึ่งส่อให้เห็นว่าพวกคฤหัสถ์เองก็ยังไม่สามารถรักษาศีล ๕ ได้อีกต่อไป จึงจำเป็นที่จะเรียกร้องให้ศีลธรรม และระเบียบวินัยในตนเองกลับคืนมา ข้อเท็จจริงที่ว่า ความเสื่อมทรามทางด้านศีลธรรมเกิดขึ้น เพราะความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็วเป็นเครื่องชี้ว่า การเรียกร้องให้มีระเบียบวินัยในตนเองเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง
ในฝ่ายเถรวาทมีสิ่งมากมายที่จะหยิบยกมาเป็นปัญหา สมัยปัจจุบัน แต่เราต้องมีความพยายาม ที่จะครุ่นคิด ตีความหมายใหม่ และใช้เหตุการณ์ปัจจุบัน ซึ่งสำหรับผู้เริ่มต้นในข้อนี้ ขอให้อ่านหนัง สือของข้าพเจ้าเรื่อง "ศีลธรรมในพระพุทธศาสนา"
ข้าพเจ้าถือว่าการแก้ปัญหาสังคมก็เป็นการปฏิบัติธรรม ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสยืนยันว่า ความสะดวกสบายเป็นสิ่งจำเป็นในการฟังธรรม และเราก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ไม่น้อยด้วยการพยายามแก้ปัญหา ความจำเป็นพื้นฐานของผู้อาจจะได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติธรรม คณะสงฆ์ไทยได้ลงมือปฏิบัติในข้อนี้มากมาย ยกตัวอย่าง เช่น ในภาคเหนือของไทย มีกิจกรรมสำคัญ ในการแก้ปัญหาการแพร่โรคเอดส์ ทั้งในด้านการต่อสู้โรคร้ายนี้โดยอาศัยการศึกษา และทั้งในด้านการเยียวยาปัญหาสังคมที่เกิดจากโรคเอดส์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ดำเนินจัดบรรพชาเยาวชนภาคฤดูร้อน เพื่อช่วยให้เยาวชนห่างไกล จากยาเสพติด และอาชญากรรม และหันไปใช้ชีวิตที่ดีงามขึ้น นิสิตที่จะจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ต้องปฏิบัติศาสนกิจช่วยเหลือสังคมเป็นเวลา ๑ ปี และเรายังมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่นิสิตร่วมงานได้ เช่น โครงการพัฒนาชาวเขา และโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์
ในการสั่งสอนพระพุทธศาสนาแก่คฤหัสถ์ มีหลายประเด็นที่จะขอกล่าวถึง
ประการแรก ธรรมเนียมนิยมในการเทศนา คือ พระสงฆ์นั่งบนธรรมาสน์และชาวบ้านนั่งบนพื้นพนมมือฟังธรรม ซึ่งเป็นลักษณะที่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยชอบนัก และผลที่เกิดขึ้น คือมีเฉพาะคนแก่เท่านั้นที่เข้าวัดในวันพระ สถานการณ์ยิ่งหนักซ้ำเข้าไปอีก เพราะวันพระตรงกับวันทำงานและคนหนุ่มสาวมาวัดไม่ได้ มีพระธรรมเทศนาบ้างในวันอาทิตย์ แต่การไปวัดวันอาทิตย์ก็ไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก คนมักพูดว่าไม่มีเวลาไปวัดและฟังธรรม
ในการแก้ปัญหาวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้นำหลักเศรษฐศาสตร์มาจากหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ที่สอนเรื่องการพึ่งตนเองและทางสายกลาง ซึ่งพระองค์ทรงเรียกว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่ไม่เพียงแต่จะเป็นแผนการ ฟื้นฟูเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นแผนพัฒนาแบบยั่งยืนที่ขยายออกไปในการที่เศรษฐกิจจะหมุนต่อไปด้วยกัน จนพบกับความต้องการในระดับที่พอเพียงมากกว่า จะให้ระดับความมั่งคั่งที่มีความโลภเป็นตัวขับเคลื่อนเพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเศรษฐกิจที่ประชาชน และประเทศต่าง ๆ พอใจกับระดับความมั่งคั่งที่มีเหตุผล และความมั่งคั่งนั้นจะต้องไม่เกิดขึ้นจากความเสียหายของผู้อื่น ทุกคนมีพอที่จะยังชีพและพอที่จะดำรงชีวิตอยู่ ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนชาวพุทธทุกระดับ ตั้งแต่ระดับส่วนตัว ชุมชน และระดับชาติ ที่จะให้คืนกลับมาหาคุณค่าทางพระพุทธศาสนา และให้มีกิจกรรมและนโยบายทางเศรษฐกิจตั้งอยู่บนคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งในการที่ทรงปฏิบัติเช่นนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงแสดงว่า คำสอนของพระพุทธเจ้า สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในโลกสมัยปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแปลมหาชนกชาดกเป็นพากย์ภาษาไทยและอังกฤษ โดยมีการปรับให้เข้ากับสังคมปัจจุบัน ตามท้องเรื่อง พระมหาชนก ทรงบำเพ็ญวิริยบารมีอย่างยิ่งยวด ไม่ทรงประสงค์ผลตอบแทนอะไร ได้ทรงขึ้นครองราชย์และนำความรุ่งเรืองมาสู่พระราชอาณาจักร มหาชนกชาดกซึ่งจัดพิมพ์เมื่อปี ๒๕๓๙ เป็นหนังสือขายดีที่ สุด และเหมาะกับเวลาในการย้ำเตือน ให้คนไทยอดทนต่อวิกฤตทางเศรษฐกิจ และเพียรพยายามในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยอาศัยความเพียร ปัญญา และสุขภาพแข็งแรง
คณะสงฆ์ไทยได้ร่วมจัดทำกิจกรรมหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เช่น ก่อตั้งวัดและจัดให้มีพระธรรมทูตอยู่ประจำในประเทศตะวันตกหลายแห่ง ในประเทศไทยเอง ก็มีทั้งวัดและศูนย์ปฏิบัติธรรม ซึ่งคฤหัสถ์ทุกชาติ สามารถเข้ามาเรียนรู้และปฏิบัติธรรมได้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีศูนย์ปฏิบัติธรรมนานาชาติ มีคำแนะนำทั้งพากย์ภาษาไทยและอังกฤษ มีหลายวัดด้วยกันซึ่งจัดขึ้นเฉพาะพระภิกษุชาวตะวันตก ถ้าการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นการเพาะปลูก สิ่งที่จะก่อให้เกิดความสุขและเป็นการกำจัดสิ่งที่จะนำทุกข์มาให้ไซร้ สิ่งที่ข้าพเจ้าเคยพูดมาในแง่ปฏิบัติแล้ว ก็นำมาประยุกต์ใช้ในที่นี้ได้ดี การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งยังหมายถึง การขจัดโรคร้ายทางสังคม ซึ่งมาพร้อมกับความทันสมัยและโลกาภิวัฒน์ ทั้งในแง่ของการลดความทุกข์ และในแง่ของการตระเตรียมคนให้ได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า แน่นอนว่าภารกิจ ส่วนใหญ่ในการนำชาวพุทธกลับมาหาพระพุทธศาสนาอีก ก็โดยการสอนให้รู้จักวิธีการประยุกต์ใช้ "ประเพณีดั้งเดิม" ที่เขา "ต้องการ" จะยึดถือ แล้ว ปรับให้เข้ากับสถานการณ์ "สมัยใหม่" ที่เขา "ต้อง" ดำเนินชีวิต ถึงแม้จะดูว่าขัดแย้งกับประเพณีดั้งเดิมก็ตาม
ดังที่กล่าวมาแล้ว ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เราฝึกอบรมพระสงฆ์ให้ สามารถ สอนวิชาพระพุทธศาสนาตามโรงเรียนได้ เรายังจัดส่งนิสิตให้ออกไปฝึกปฏิบัติงานอยู่กับชาวบ้าน เราใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ทำคำสอนของพุทธเจ้าให้สืบค้นได้ง่ายทั่วโลกเพียงแค่คลิกเมาส์ ให้นิสิตได้ สนทนาแลกเปลี่ยน และร่วมมือกันจัดกิจกรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนาระดับนานาชาติ
ในการตอบสนองต่อโลกาภิวัฒน์ การเผยแผ่ของชาวพุทธยังต้อง สร้างเครือข่ายชาวพุทธทั่วโลกทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของชาวโลก กล่าวคือ บางทีเราอาจจะต้องเข้าไปสู่กระแส โลกาภิวัฒน์เสียเอง เพื่อที่จะนำพระพุทธศาสนาให้มีคุณค่าต่อโลกยิ่งขึ้น เกี่ยวกับประเด็นนี้ ข้าพเจ้าอยากจะทบทวนความคิดริเริ่ม ๒ ประการ ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้เป็นผู้แสดงบทบาท สำคัญ
ในปี ๒๕๔๓ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพร่วมจัดประชุม เพื่อการเผยแผ่ พระพุทธศาสนาแห่งโลกครั้งที่ ๒ หรือที่เรียกกันว่า "การประชุมสุดยอดชาวพุทธ" ในประเทศไทย ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีผู้นำศาสนาระดับสูงจาก ๑๖ ประเทศซึ่งเป็นผู้แทนจากพระพุทธศาสนานิกาย สำคัญทั้งฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหายานเข้าประชุมร่วมกัน ผู้นำศาสนาเหล่านี้มิเพียงพูดคุยกันเกี่ยวกับ วิธีการที่จะทำงานร่วมกันในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์สุขของมวลชนและให้ความร่วมมือกันในสิ่งที่จะก่อให้เกิดสันติภาพมั่นคง และทำให้มนุษย์ชาติและ สิ่งแวดล้อมดีขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น แต่ยังได้ลงนามรับรองกฎบัตรก่อตั้งการประชุมพุทธนี้ให้เป็นองค์กรถาวร ผูก สัมพันธ์ผู้นำพุทธทั่วโลกทำงานร่วมกันให้ธรรมบริการแก่มนุษย์ชาติอีกด้วย
ในปีเดียวกันนั้นเอง ข้าพเจ้าพร้อมด้วยผู้แทนคณะสงฆ์ไทยได้เข้าร่วมในการประชุม สุดยอดของผู้นำศาสนาและจิตวิญญาณเพื่อสันติภาพโลกในสหัสวรรษ ณ หอประชุมใหญ่องค์การสหประชาชาติ มหานครนิวยอร์ก ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้นำระดับสูงจากศาสนาสำคัญทั่วโลกทั้งหมด มาพบปะกันในที่แห่งเดียวกัน เพื่อพูดคุยถึงหนทางและวิธีการก่อให้เกิดสันติภาพแก่โลก นอกจากนี้ ข้าพเจ้ายังได้ร่วมการประชุมซึ่งเป็นผลสืบเนื่องในปีถัดมาอีก ณ มหานครนิวยอร์ก เพื่อวางแผนปฏิบัติงานต่อไป และ พูดคุยวิธีการที่จะให้เป้าหมายของการประชุมสุดยอดเพื่อสันติภาพในปี ๒๕๔๓ นำมาปฏิบัติให้เกิดผล
ผลก็คือการประชุมสภาผู้นำศาสนาโลกครั้งแรกจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยมีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและการประชุมสุดยอดเพื่อสันติภาพโลกในสหัสวรรษร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ผู้แทนระดับสูงของศาสนาต่าง ๆ ในโลก ได้พบปะพูดคุยกัน พร้อมกับร่วมกันแสวงหาเส้นทางสู่สันติภาพ การบรรเทาความยากจน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้มีการลงนามรับรองกฎบัตรก่อตั้งสภาผู้นำศาสนาโลก ซึ่งประกอบด้วยศาสนาพุทธ ฮินดู เชน อิสลาม ยูดาย คริสต์ และศาสนาอื่น ๆ เป็นองค์กรถาวร ลักษณะสำคัญของ สภาผู้นำศาสนาโลกก็ เพื่อทำงานใกล้ชิด กับองค์การสหประชาชาติในประเด็นเหล่านี้ ในขณะเดียวกันต้องรักษาความเป็นองค์กรอิสระด้วย
ที่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เราได้จัดทำระเบียบว่าด้วย สถาบันการศึกษาในประเทศอื่น ๆ มาเป็น สถาบันสมทบกับมหาวิทยาลัยโดยมีประโยชน์ร่วมกันทั้ง สองฝ่าย เช่น วิทยาลัยพระพุทธศาสนาดองกุกชอนบอบในประเทศเกาหลีได้เข้ามาเป็น สถาบันสมทบกับเราเรียบร้อยแล้ว และวิทยาลัยพระพุทธศาสนาชินจูในไต้หวันได้ สมัครเข้ามาเป็นสถาบันสมทบอีกแห่งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ เรากำลัง สร้างเครือข่ายการศึกษาทางพระพุทธศาสนาในระหว่างประเทศและนิกายที่แตกต่างกัน ดังนั้น การ สนทนาแลกเปลี่ยนทางวิชาการจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกันถูกจัดให้มีขึ้นและรักษาความมีชีวิตชีวาไว้ และจะเป็นกระบวนการเชื่อมไมตรีระหว่างผู้คนซึ่งยังไม่รู้จักกันและบางทีก็เริ่มจะเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
ภารกิจสำคัญของพระสงฆ์ข้อสุดท้ายคือการปกป้องพระพุทธศาสนาสิ่งที่กล่าวมามากแล้วนั้นก็ เพื่อทำหน้าที่ปกป้องพระพุทธศาสนา จากการเข้าใจผิดและนำไปใช้ผิดมหันตภัยต่อพระพุทธศาสนา ที่เห็นชัดอย่างหนึ่งก็คือการใช้กลยุทธ์เชิงรุกรานในการแย่งชิงศาสนิกชนของบางศาสนา ความพยายามเชิงรุกรานนี้เป็นสิ่งน่าห่วงใยมิใช่เฉพาะต่อพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่อีกหลาย ๆ ศาสนาด้วยเหมือนกัน วิธีการอย่างหนึ่งในการเผชิญสิ่งคุกคามเช่นนี้ ก็โดยที่เราพระสงฆ์ต้อง สร้างความมั่นใจได้ว่า ปฏิบัติตามหน้าที่ของเราต่อคฤหัสถ์อย่างถูกต้อง เช่น ให้คำแนะนำและช่วยเป็นภาระทางด้านการศึกษา ในขณะเดียวกันตัวพระสงฆ์เองต้องรักษาข้อพระวินัยอย่างเคร่งครัด
ในการโต้ข้อกล่าวหาของศาสนาคริสต์ที่กล่าวหาว่า พระพุทธศาสนาไม่สนใจปัญหาสังคมนั้น เราจะต้องจำไว้ว่า ชาวพุทธได้ สร้างโรงพยาบาลและทำสาธารณประโยชน์อื่น ๆ มาก่อนที่พระเยซูอุบัติ เมื่อระลึกถึงข้อนี้ได้ เราก็ต้องหวนกลับไปทำงานด้านบริการ สาธารณะและมีความเมตตาเป็นอย่างมาก ในคราวประชุม สภาผู้นำศาสนาของโลกที่กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี ๒๕๔๕ ปัญหาเรื่องการแย่งชิงกันเปลี่ยนศาสนาเป็นเรื่องน่าห่วงใย สำหรับผู้เข้าประชุมจากเกือบทุกศาสนา และเป็นเรื่องแน่ชัดว่า สภาผู้นำศาสนาโลก จะไม่เห็นด้วยกับการให้เปลี่ยนศาสนาเชิงรุกรานใด ๆ
สิ่งคุกคามอย่างมากต่อพระพุทธศาสนาก็คือภัยภายในพระพุทธศาสนา จากการที่พระสงฆ์ที่ไม่ยอมปฏิบัติตามพระวินัย การล่วงละเมิดของพระเหล่านี้ เป็นเหตุให้ภายในคณะสงฆ์ เองกลับเลวร้ายลงยิ่งขึ้น ทั้งคอยเป็น สนิมกัดกร่อนอำนาจของพระสงฆ์ในหมู่คฤหัสถ์ และกลับเป็นกระสุนแก่ผู้เป็นปรปักษ์ต่อพระพุทธศาสนา เราต้องค้นหาหนทางที่จะแก้ปัญหานี้ให้ได้
การพูดคุยกันเป็นสิ่งสำคัญในทุกระดับชั้นและเป็นสิ่งจำเป็นที่การพูดคุยซึ่งเริ่ม ณ ห้องประชุมนี้จะดำเนินต่อไปในอนาคต ข้าพเจ้าขออนุโมทนาผู้จัดงานสำหรับการสร้างเวทีเช่นนี้ขึ้น ฉะนั้นจึงหวังต่อไปว่า ประเทศไทยจะสามารถรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเช่นนี้บ้างในอนาคตอันไม่ไกลนี้
ข้าพเจ้ารู้ สึกเป็นหนี้บุญคุณอย่างมากต่อคณะสงฆ์ศรีลังการุ่นเก่าที่ในสมัยก่อนโน้น นำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ที่ประเทศไทยและข้าพเจ้าขออนุโมทนาประชาชนชาวศรีลังกา ในการพิทักษ์รักษาเชื้อสายของ ยาโม ปาลีมหานิกาย อย่างไม่ขาดสายเป็นเวลานานถึง ๒๕๐ ปี
คณะสงฆ์ได้ฝ่าคลื่นลมมรสุมรอดพ้นวิกฤตมาเป็นเวลากว่า ๒,๕๐๐ ปี นับตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงก่อตั้งคณะสงฆ์นี้ขึ้นมา ถ้าคณะสงฆ์ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย และประยุกต์ใช้พระธรรมวินัยอย่างถูกต้องตามพุทธประสงค์ด้วยสติปัญญา พระพุทธศาสนาก็จะดำรงคงอยู่ สถาพรในอนาคตกาลเพื่อประโยชน์สุขแห่งมวลมนุษยชาติตลอดไป
(ที่มา: ปาฐกถา ณ เมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา)

ถามหา ผอ.พศ.จังหวัด

ถามหา ผอ.พศ.จังหวัด

ทุกวันนี้มีคนพูดถึงสถาบันกันเป็นจำนวนมาก ยิ่งพูดถึงสถาบันศาสนาด้วยแล้วยิ่งวิพากษ์วิจารณ์กันยกใหญ่และพอเอ่ยถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบ ดูแลเรื่องพระพุทธศาสนา
คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นหน้าที่ของกรมศาสนา แท้จริงแล้วยังมีหน่วยงานระดับชาติอีก หน่วยงานหนึ่งที่รับผิดชอบด้านสนองงานคณะสงฆ์และรัฐ หน่วยงานนี้มีอายุย่างเข้าปีที่ 5 แล้ว นับตั้งแต่การปฏิรูประบบราชการ เมื่อปี 2545
หน่วยงานนี้ชื่อ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ถูกแยกออกไปจากกรมการศาสนาเดิม แล้วตั้งตัวเป็นหน่วยงานที่ไม่สังกัดกระทรวงใด แต่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
หลายคนยินดีที่มีหน่วยงานบริหารกิจการพระพุทธศาสนาอย่างเป็นเอกเทศ แต่หลายคนกลับเสียใจเพราะมองทางไหนมีแต่ทางตัน ด้วยมิได้สังกัดใคร อยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย
ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับพระพุทธศาสนา จึงคาดหวังให้วัดกับพระได้รับการทำนุบำรุงอุปถัมภ์ เรียกว่ามีผู้ดูแลทั้งศาสนสถาน ศาสนวัตถุ ศาสนบุคคล และศาสนธรรม
ลำพังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่มีบุคลากร 200 คน ย่อมไม่พอเพียงกับภารกิจระดับชาติเช่นที่กล่าวมา
ดังนั้น เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พุทธศักราช 2549 จึงได้มีกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการออกเป็นราชการบริหารบริหารส่วนกลาง คือ
ตัวสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และราชการบริหารส่วนภูมิภาค คือ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด มีบุคลากรเพิ่มเข้ามาอีกเกือบ 800 คน
สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด มีผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (ข้าราชการระดับ 8) เป็นผู้บริหาร มีอำนาจหน้าที่ ในการศึกษาวิเคราห์และรายงานข้อมูลสารสนเทศด้านพระพุทธศาสนา เพื่อกำหนดนโยบายในระดับจังหวัด รวมทั้งเสนอแนะแนวทางแก้ไข ติดตามและประเมินผลการดำเนินผลการดำเนินงานตามนโยบายแผนงาน
โครงการของหน่วยงานในการดูแลของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด รวมทั้ง รายงานผลผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค
ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบหน้าที่
นอกจากนี้ มีทั้งส่งเสริมดูแล รักษาและทำนุบำรุง ศาสนสถาน ศาสนวัตถุในจังหวัด รวมทั้งการประสานงาน และสนับสนุนคุ้มครองพระพุทธศาสนาในจังหวัด
การตั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด เป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาคขึ้นในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็เพื่อทำหน้าที่ทำนุบำรุงส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาในจังหวัดนั้นๆ ให้เข้มแข็ง เป็นหูเป็นตาเป็นมือเป็นไม้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาส่วนกลาง
หลายคนที่สงสัยว่าผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเป็นใคร ถึงตอนนี้คงนึกออก ถ้ายังนึกไม่ออกไปถามผู้ว่าราชการดูก็ได้
สมชาย สุรชาตรี ผอ.กองพุทธสารนิเทศ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ปั้น "พระนักเทศน์" ตะเวนสอนคนทำดี

ปั้น ‘พระนักเทศน์’ ใช้ ‘สาลิกาป้อนเหยื่อ’ ตระเวนสอนคนทำดี
ตวงศักดิ์ ชื่นสินธุ


"ประเทศไทยยุค 2006 คนไทยเมินคำสอนของพระพุทธองค์ ที่จะมุ่งไปสู่การพ้นทุกข์ พระศาสนาใกล้เสื่อม เยาวชนถูกสิ่งมอมเมาล่อหลอกให้หลงไปในกระแสโลกาภิวัตน์"
พระราชปฏิภาณมุนี (บุญมา อาคมปุญโญ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ในฐานะประธานโครงการเผยแพร่ ปรารภอย่างเป็นห่วงเป็นใยในอนาคตของประเทศไทย
เมื่อมองมาที่สถาบันศาสนา ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญในการอบรมสั่งสอนคนให้เป็นคน เป็นแหล่งผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพให้กับสังคมนับแต่อดีต ก็ไม่เข็มแข็งเท่าแต่ก่อนเก่า
"พระภิกษุ สามเณร ผู้ที่สืบทอดศาสนาโดยตรง 3 แสนกว่ารูป มีภิกษุที่สืบทอดศาสนาได้ตรงและเข้าใจง่ายอยู่น้อยจนน่าเป็นห่วง"
วัดประยุรวงศาวาสถือว่านี่เป็นหน้าที่หนึ่งของวัด ซึ่งได้ให้ความสำคัญในด้านการส่งเสริมการศึกษาและได้ทำหน้าที่นี้มาตลอดกว่า 100 ปีที่ผ่านมา เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป จึงตื่นตัวในการจัดให้มีการอบรมพระภิกษุสงฆ์ให้เป็นพระนักเทศน์
"อาตมามองว่าสังคมไม่ได้รู้สิ่งที่ควรรู้เลย และทิศทางการสร้างนิสัยที่ดีให้กับเยาวชนอ่อนแอลงไปมาก อาตมาต้องการให้ *พูดเสียงดัง* ในเรื่องของการเสริมสร้างนิสัย เช่น เสริมสร้างให้คนรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เสริมสร้างให้คนมีอัธยาศัยดี มีจิตใจโน้มเอียงไปในทางที่รักสงบ ไม่เบียดเบียนใคร เสริมสร้างให้คนรู้จักประหยัด"
ขณะเดียวกันจำนวนพระผู้ทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมะ หรือ "พระนักเทศน์" ในปัจจุบันมีไม่เพียงพอ ด้วยความที่วัดประยุรวงศาวาสนั้นเป็นที่เลื่องลือในเรื่องการเทศน์แบบ "สาลิกาป้อนเหยื่อ" มาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์
พระราชปฏิภาณมุนีเล่าว่า ผู้ที่คิดค้นหลักการเทศน์แบบสาลิกาป้อนเหยื่อ ก็คือ "พระพุทธโฆษาจารย์ (จี่)" เจ้าอาวาสรูปที่ 1 ของวัดประยุรวงศาวาส
ท่านได้รับการยอมรับว่ามีโวหารดี ลีลาอย่างสาลิกาป้อนเหยื่อ มีคนนิยมกันมาก ชื่อเสียงโด่งดังกระทั่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ ทั้งโปรดฯให้เป็นเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสในเวลาต่อมา คือ พ.ศ.2375
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่) มรณภาพในรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2416 สิริอายุได้ 81 ปี ครานั้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ได้ทรงนิพนธ์โคลงว่าด้วยมรณภาพของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่) ไว้ว่า
สมเด็จพระพุทธเจ้า, เจ้า นักเทศน์วิเศษเหลืออาสาฬหะแรมเมื่อ ถึงพิราลัยทิ้ง คณะเหนือ เพราะพริ้ง สามค่ำ ร่างไว้ไปศูนย์
ปัจจุบันยังคงมีการสืบทอดการเทศน์แบบสาลิกาป้อนเหยื่อต่อๆ กันมา จนถึงสมัยพระธรรมโกศาจารย์ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน โดยจัดให้มีการพระนักเทศน์จะมีขึ้นทุกปี ปีละ 1 รุ่น รุ่นละ 300 รูป จนถึงวันนี้ได้ดำเนินการมาถึงรุ่นที่ 14 แล้ว
การจัดให้มีการอบรมพระนักเทศน์นั้น ส่วนหนึ่งเพื่อให้พระผู้ผ่านการอบรมนั้นนำธรรมะไปเทศนาประชาชนให้ผู้ฟังซึมซาบในรสพระธรรมและนำไปปฏิบัติตาม อีกส่วนหนึ่งคือนำกลวิธีการเทศน์ที่ได้รับการอบรมมาไปสอนพระชั้นผู้น้อยต่ออีกทอดหนึ่ง
ตัวอย่างเช่น พระนักเทศน์ในกรุงเทพฯ ซึ่งหลังจากผ่านการอบรมแล้ว ได้นำผลที่รับการอบรมไปสอนต่อญาติโยมทุกวันอาทิตย์ ทำให้ทุกวันนี้วัดในกรุงเทพฯ รวมทั้งโรงเรียนที่อยู่ในวัดต่างก็มีพระนักเทศน์ไปให้การอบรมสั่งสอนกับนักเรียนและผู้ที่ฝักใฝ่ในพุทธศาสนา
ที่สำคัญคือ พระนักเทศน์เหล่านี้ยังได้กระจายความคิด ความรู้ให้กับพระที่ยังไม่รู้จักแนวทางการเทศน์ และต้องการที่จะมาอบรมต่อได้อีกทอดหนึ่ง
สำหรับหลักการของการเทศน์แบบ "สาลิกาป้อนเหยื่อ" นั้น พระราชปฏิภาณมุนี อธิบายว่า จะต้องมี "ลีลาสวย รวยสาระ และธรรมะดี"
กล่าวคือ พระที่เทศน์ต้องมี "ลีลาสวย" ในเรื่องกิริยามารยาททุกอย่างต้องสวย "รวยสาระ" คือต้องมีเกร็ดสาระต่างๆ ให้ผู้ฟังได้รู้ตามทันโลก "ธรรมะดี" ต้องมีหลักมีที่ไปมีที่มาไม่ใช่ว่ากันเรื่อยๆ เปื่อยๆ ในพระไตรปิฎกมีอย่างไร ต้องว่าอย่างนั้น แล้วก็มีธรรมะดี มีนิทานตัวอย่างฟังง่ายสบายหู ไม่เสียดสีคนฟัง เอาตัวละครมาว่ากัน
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่ อินฺทสรมหาเถร)
กระนั้นใช่ว่าพระทุกรูปจะสามารถเข้ารับการอบรมได้ในทันที จะต้องมีการผ่านการอบรมหลักจรรยาของนักเทศน์ก่อน โดยมีการกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นของพระที่จะรับการอบรมว่าจะต้องจบนักธรรมชั้นเอก มีพรรษา 5 และเข้ามาอบรม 3 เดือนทุกวันพระ
จนถึงปัจจุบันแม้ว่าจะมีพระนักเทศน์เข้ารับการอบรมไปแล้วกว่า 300 รูป ก็ยังไม่เพียงพอ
"ตอนนี้มีโรงเรียนวิถีพุทธทั่วประเทศติดต่อมาให้จัดหาพระนักเทศน์ ส่งไปตามวัดต่างๆ ที่ไม่มีพระนักเทศน์ ขณะเดียวกันก็มีพระจากต่างจังหวัด เช่น ลำพูน กาฬสินธ์ นครปฐม นนทบุรี สมุทรสาคร ฯลฯ เข้ามารับการอบรมอยู่ตลอดเวลา"
ฉะนั้นพระที่ได้รับการถ่ายทอดจากพระนักเทศน์แล้ว ถ้าความรู้ความสามารถยังไม่ชำนาญ พระราชปฏิภาณมุนีว่าสามารถมาอบรมต่อที่วัดประยุรวงศวาสได้ โดยทางวัดจะจัดเตรียมที่ทางให้พัก ทั้งมีการถวายภัตตาหารให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
"งบประมาณที่นำมาใช้เพื่อดำเนินการโครงการนี้เมื่อก่อนจะได้รับบริจาคจากญาติโยมที่มีจิตศรัทธาเห็นความสำคัญของการอบรมเทศนาและอยากจะสนับสนุนโครงการ ส่วนในปีนี้ได้รับความอนุเคราะห์จาก นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรี ผ่านทางสำนักพระพุทธศาสนา ประมาณ 700,000 บาท โดยยังจะสนับสนุนงบประมาณต่อเนื่องด้วย"
ส่วนญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาต้องการร่วมบริจาคให้กับพระนักเทศน์ ยังสามารถบริจาคมาได้ตลอดที่ วัดประยุรวงศวาสวรวิหาร หรือติดต่อพระราชปฏิภาณมุนี โทร.0-2465-0793
"อาตมาเองอยากจะประกาศผ่านสื่อมวลชน เพื่อให้ภิกษุ สามเณร ประชาชน ได้รับทราบว่าในขณะนี้มีการฝึกอบรมพระนักเทศน์ขึ้นมาแล้ว
เพราะในเพศบรรพชิตนั้น จุดสูงสุดของการมาบวชพระต้องรู้จักสอนประชาชน เหมือนครูซึ่งต้องมีหน้าที่สอนนักเรียน เพื่อให้คนเหล่านั้นรู้จักอายความชั่ว-กลัวความบาป ให้ประชาชนได้มีศีลธรรมอันดี มีความคิดเห็นที่ถูกต้อง"
ด้วยความหวังว่าในอนาคตหลังจากพระนักเทศน์ที่ผ่านการอบรมจากที่นี่ไปแล้ว และได้ไปสอนพระรูปอื่นๆ ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ จะทำให้มีพระนักเทศน์ใหม่ๆ เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน เพื่อช่วยกันเผยแผ่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
จริงอยู่ที่คำสั่งสอนของพระพุทธองค์แม้ว่าจะมีบันทึกอยู่ในพระไตรปิฎกไว้ครบถ้วน แต่เป็นเรื่องยากสำหรับยุคปัจจุบันที่จะศึกษาให้ละเอียดและปฏิบัติได้ตามที่คาดหวัง เพราะมีเวลาเป็นเครื่องกำหนด อีกทั้งยังต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพในยุคของข้าวยากหมากแพง
พระนักเทศน์จึงมีความสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้มนุษย์ที่ยังไม่พ้นวัฏสงสาร รอให้พระมาโปรดให้มนุษย์เหล่านั้นพ้นทุกข์ แม้เพียงเศษเสี้ยวของพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ก็เพียงพอแล้ว
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่ อินฺทสรมหาเถร)
เป็นชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกิดเมื่อ พ.ศ.2336 ในสมัยรัชกาลที่ 1 บวชอยู่วัดราชบุรณะได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค เป็นพระธรรมกถึกเทศนาโวหารดี "ลีลาอย่างสาลิกาป้อนเหยื่อ" มีคนนิยมมาก
ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระอมรโมลี เมื่อ พ.ศ.2365 ในสมัยรัชกาลที่ 2
พ.ศ.2375 ในรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่ พระเทพโมลี ตรีปิฏกธรามหาธรรมกถึกคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาลี นับเป็นครั้งแรกที่โปรดให้เติมคำว่า "มหากรรมกถึก" ซึ่งในปีเดียวกันโปรดให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส
ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ตามลำดับจากพระธรรมไตรโลกาจารย์ เป็นพระพิมลธรรม และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่) มรณภาพในรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2416 อายุได้ 81 ปี เป็นเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส นานที่สุดถึง 41 ปี
ที่มา : นสพ.มติชน 16 ส.ค.49

การตีความพระไตรปิฎก

การตีความพระไตรปิฎก
เสฐียรพงษ์ วรรณปก

ผมได้รับเชิญไปร่วมอภิปรายในการสัมมนาทางวิชาการด้านพระพุทธศาสนาและพุทธปรัชญา ที่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรนครปฐม เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2549 ที่ผ่านมา ตามปกติไม่ค่อยรับไปพูดในทำนองนี้บ่อย เหมือนสมัยยังหนุ่มแน่น ในยุคที่ "สิงห์สัมมนา" กำลังเฟื่อง สิงห์สัมมนาดังๆ ฝีปากคมคาย สมัยโน้น ก็ร่วงไปแทบหมดแล้ว อาทิ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ดร. เอกวิทย์ ณ ถลาง (ประทานโทษ อาจารย์ ยังอยู่ครับ) ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ดร.แถมสุข นุ่มนนท์ เป็นต้น ล้วนรุ่นเฮฟวี่เวททั้งนั้น ผมเป็นเด็ก มีสัมมนาที่ไหน คณบดีก็เมตตาส่งให้ไปนั่งฟัง (ฟังอย่างเดียว) กว่าจะกล้าพูดได้ ท่านเหล่านั้น "แขวนนวม" เกือบหมดแล้ว
รู้สึกว่ายุคนี้ สัมมนาทางวิชาการที่เป็นเนื้อเป็นหนังไม่ค่อยจะเฟื่องเหมือนสมัยก่อน หรืออย่างไร ผมเองก็ "แขวนนวม" ไปแล้วเช่นกัน ไม่จำเป็นจริงๆ ไม่ "รับนิมนต์" เพราะปัญหาเรื่องสุขภาพ
วันนั้นเราพูดกันเรื่องการตีความพระไตรปิฎก มีธัมมนันทา ภิกษุณี (ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์) ดร.สมภาร พรหมทา และผม มี ดร.สำเนียง เลื่อมใส เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย เวลาค่อนข้างจำกัด ท่านธัมมนันทา และอาจารย์สมภาร ดูจะมีประเด็นเสนอมากมาย แต่เนื่องจากเวลาไม่มี จึงได้รับฟังไม่เต็มที่ เวลาส่วนหนึ่งเสียไปกับ การ แนะนำคุณภาพของคนพูด ไม่รู้จะแนะนำไปทำไมมากมาย คุณภาพ "คับแก้ว" ทั้งหลายแหล่ น่าจะพิมพ์เอกสารแจกที่ประชุม ให้ไปอ่านเอง ว่าคนไหนบรรลุธรรมขั้นไหนแล้ว!
ตามปกติเวลาชั่วโมงครึ่ง พูดคนเดียวก็ไม่พออยู่แล้ว นี่ตั้งสามคน สี่กับผู้ดำเนินการอภิปราย (ซึ่งโดยหน้าที่เขาไม่ให้พูดมากอยู่แล้ว) ท่านอื่นเสนออะไร เข้าใจว่าเขาอาจมีเอกสารตามมา ควรหาอ่านเอาได้
อ้อ น่าชมอย่างที่สัมมนาคราวนี้ มีเอกสารทางวิชาการแจก 6 เรื่องดีๆ ทั้งนั้น คือ วิพากษ์ทฤษฎีการตีความพระไตรปิฎกของเมตตานันโทภิกขุ ในหนังสือ "เหตุเกิด พ.ศ.1" โดย ปกรณ์ สิงห์สุริยา สตรีนิยม ผลกระทบต่อพระพุทธศาสนา โดย มนตรี สืบด้วง พระพุทธศาสนากับรัฐชาติสมัยใหม่ โดย นภานาถ อนุพงศ์พิพัฒน์ รัฐไทยกับการศึกษาวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียน โดย ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ จากบรรณาธิการ วารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานะของพระไตรปิฎก รายงานพิเศษ การต่อสู้ของชาวมุสลิมเพื่อความอยู่รอดใน "ไทยภาคใต้" อ่านเอกสารเหล่านี้จบ ก็ได้บรรลุไปหนึ่งขั้นแล้วครับ
ผมเสนอข้อคิด ความจริงคำถามว่า การตีความหมายเอาแค่ไหน พระไตรปิฎกควรตีความหรือไม่ ถ้าหมายเอาการให้คำจำกัดความ การอธิบาย หรือการแปลความหมาย ดังงานเขียนของพระอรรถกถาจารย์ พระฎีกาจารย์ พระอนุฎีกาจารย์ หรือกระทั่งอาจริยมติ ก็ตีความได้
แต่การตีความคงไม่ใช่ใครอยากจะตีทางไหนอย่างไร ก็ทำได้ตามสบาย เพราะอาจเข้ารกเข้าพงได้ง่าย หรือไปๆ คนตีความจะกลายเป็นฤๅษีไปโดยไม่รู้ตัว หรือฤๅษีอะไร อ้าว "ฤๅษีแปลงสาร" นั่นไง
อาจารย์สมภารอ้างพระพรหมคุณาภรณ์ (ปยุตฺโต) ว่า ผู้ตีความจะต้องมีคุณธรรมอย่างน้อยสองข้อ คือ (1) ต้องรู้ลึกรู้รอบ และ 2 ต้องซื่อสัตย์ รู้ลึกคงหมายถึงอ่านพระไตรปิฎกจนทะลุปรุโปร่ง ทุกแง่ทุกมุม อย่างที่เรียกว่าเป็น "พหูสูต" ยกอะไรตรงไหนมา ก็ต้องยกมาให้ครบ ไม่ใช่จับเอาเพียงชิ้นส่วนมา ซึ่งไม่เห็นภาพรวม ส่วนข้อซื่อสัตย์ ผู้ตีความจะต้องซื่อสัตย์ต่อพระไตรปิฎก ต่อพระพุทธเจ้า อ้างข้อความจากพระไตรปิฎกก็ต้องอ้างครบถ้อยกระทงความ ถ้าจะใส่ความคิดเห็นของตนเอง ก็ต้องบอกว่า ตรงนี้เป็นความคิดเห็นของตน ไม่ใช่เอามาปนกัน ให้ผู้อ่านผู้ฟังสับสน
อาจารย์สมภารยกตัวอย่างการตีความของเมตตานันโท ในทรรศนะของหลวงพ่อปยุตฺโต ว่าเป็นงานของผู้รู้ไม่ลึก รู้ไม่รอบ และไม่ซื่อสัตย์ เสียดายว่า หลวงพ่อเมตตาฯ ท่านออกไปฉันเพลอยู่ จึงไม่ได้ฟัง
ตรงนี้โบราณท่านก็ให้แนวไว้เหมือนกัน ดูเหมือนท่านจะถือกันเคร่งครัด ใน วิสุทธิมรรค ตอนว่าด้วยปัญญานิเทศ พระพุทธโฆสาจารย์ ท่านให้แนวไว้ว่า ผู้แต่ง ผู้แปล หรือผู้ตีความ พระไตรปิฎก จะต้องยึดหลัก 10 ประการ คือ
ต้องก้าวลงสู่แวดวงวิภัชชวาที แปลตามตัวอักษรก็คือต้องแจกแจง แยกแยะ วิเคราะห์ให้ชัดเจน ไม่ใช่รีบสรุปในแง่ใดแง่หนึ่ง ผู้แต่งท่านสังกัดนิกายเถรวาท ซึ่งเป็นฝ่ายวิภัชชวาที คำนี้จึงจำกัดวงว่า ต้องอธิบายหรือตีความตามแนวของเถรวาทเท่านั้น
ต้องไม่กล่าวตู่ครูบาอาจารย์ ตั้งแต่ปฐมสังคายนาเป็นต้นมา ให้ยึดมติของครูบาอาจารย์เหล่านั้น ถึงจะมีความคิดเห็นใหม่ไม่ตรงกับของโบราณ ก็ยกของโบราณมาเป็นที่อ้างอิง แล้วก็แสดงทรรศนะของตนไป ดูเหมือนพระพุทธโฆสาจารย์ท่านทำเป็นตัวอย่าง ท่านจะยกมติของโบราณาจารย์มาแล้ว ท่านก็เสนอของท่านเอง แล้วตบท้ายว่า "ผู้ศึกษาพึงพิจารณาเทอญ"
ต้องไม่ทิ้งสกสมัย คือลัทธิความเชื่อถือของตน คล้ายกับว่าต้องมีจุดยืนที่วาทะของตน สำนักของตน ลัทธิศาสนาของตน
ต้องไม่ล่วงล้ำปรสมัย คือความเชื่อของฝ่ายอื่น อันนี้เป็นมารยาทที่งาม ไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์ลัทธิอื่นอย่างเสียๆ หายๆ แต่อย่างว่า พระพุทธโฆสเจ้าตำรับเอง เวลาพูดถึงพวกที่ต่อต้านพระอภิธรรม ก็ใช้วาทะรุนแรง เรียกว่าสาปแช่งเอาเลย
ต้องไม่ปฏิเสธพระสูตร
ต้องตีความอนุโลมตามพระวินัย
ต้องแสดงหลักธรรม หรือแสดงออกถึงความเที่ยงธรรม
ต้องให้เข้าได้กับมหาปเทส (ข้ออ้างใหญ่ ทั้งมหาปเทสในทางธรรม และมหาปเทสทางพระวินัย)
ต้องเก่งในทางสังเคราะห์เนื้อหา
้องอธิบายความหมายซ้ำโดยปริยายอื่นอีก เพื่อให้แจ่มแจ้ง เข้าใจง่าย
ผมยกหลักการตีความแล้วก็เสนอมติของตน 3-4 ข้อ แต่ไม่มีเวลาอธิบาย เพราะอาจารย์สำเนียงแกกระซิบว่าหมดเวลาแล้ว ดีนะผมไม่ใช่หลวงพ่อปัญญา หลวงพ่อปัญญา ถ้าท่านยังไม่จบประเด็น ต่อให้เขียนโน้ตเตือนแล้วเตือนอีก ท่านไม่สน จน "อาหม่อม" (ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์) ของผมบอกว่า เข็ดแล้ว ไม่เข็ดได้ยังไง ท่านนอกจากไม่สนแล้ว ยังเบรกกลางที่ประชุมด้วย "เดี๋ยวนี้ หม่อมถนัดศรี มีโน้ตว่าหมดเวลาแล้ว แต่อาตมายังพูดไม่จบเลย จะหยุดได้อย่างไร อย่ากระนั้นเลย อาตมาขอพูดไปจนจบก็แล้วกัน"
ตกลงผู้ร่วมอภิปรายสองสามคน ได้แต่นั่งฟังหลวงพ่อเทศน์ ไม่ได้พูดสักแอะ จบแล้วก็รับ "กัณฑ์เทศน์" เท่ากันแหละ ไม่ต้องเปลืองแรง (ฮา)
ผมว่าในพระไตรปิฎก ประเด็นที่ชัดเจนแล้ว พระพุทธเจ้าทรงอธิบายไว้แล้วในรูปพุทธพจน์ เช่นเรื่องพระนิพพาน อริยสัจ มรรคมีองค์แปด เหล่านี้ไม่ต้องตีความ การตีความว่าพระนิพพานเป็นอัตตาหรือไม่เป็นอัตตา ดังบางคนพูดนั้น ตีความไปทำไม พระพุทธเจ้าท่านตีความไว้แล้ว (ถ้าจะใช้คำนี้) เมื่อเจ้าของท่านตีความไว้ว่าหมายถึงอย่างนี้ นิพพานเป็นอนัตตา อย่างนี้แล้ว เราจะมาตีความให้ต่างจากท่านได้อย่างไร บางท่าน "แทงกั๊ก" เพื่อให้เก๋ว่า "พระนิพพานไม่เป็นอัตตา และไม่เป็นอนัตตา" มิน่าล่ะ ผู้บรรลุนิพพานของท่านจึงกะเตะปากชาวบ้านได้!
แต่ถ้าตีความให้สอดคล้องกับหลักการใหญ่ เป็นการเสริมให้ชัดเจนสำหรับคนร่วมสมัยเช่น
ที่ท่านพุทธทาสตีความว่า "ถ้าทำจิตให้ว่างจากตัวกู (อหังการ) ของกู (มมังการ) ได้ชั่วครู่ ก็ถือว่าบรรลุนิพพานชั่วคราว หรือนิพพานชิมลองแล้ว" อย่างนี้ทำได้ เพราะสอดคล้องกับหลักการของพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้ายังตรัสว่า เสขบุคคล ก็บรรลุพระนิพพานเหมือนกัน ทั้งๆ ที่ท่านเหล่านั้นยังไม่หมดกิเลส เช่นพระโสดาบันก็บรรลุขั้นหนึ่ง พระสกทาคามีก็ขั้นหนึ่ง พระอนาคามีก็อีกขั้นหนึ่ง จนกระทั่งเป็นพระอรหันต์จึงเรียกว่า บรรลุพระนิพพานเต็มที่สมบูรณ์
แต่ถ้าตีความเอาเฉพาะประเด็นที่ตนต้องการก็ไม่สมควร เพราะจะทำให้ผู้อ่านผู้ฟังไขว้เขว ก็ต้องเอ่ยอาจารย์หลวงพ่อพุทธทาสอีกแหละ ท่านอธิบาย ปฏิจจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตา ว่าเป็นกระบวนการชั่วขณะจิต เกิดแล้ววิ่งปรู๊ดจนถึงที่สุดในชั่วขณะจิตเดียว เช่นตาเห็นรูปสวยๆ ก็เกิดเวทนา ตัณหา อุปาทานเรื่อยไป รวดเร็วมาก สติตามไม่ทัน หยุดไม่ทันก็วิ่งถึงที่สุด เกิดทุกข์ขึ้นมาทันที
หลวงพ่อท่านว่า ไม่มีดอกที่ขบวนการอิทัปปัจจยตาต้องคร่อมภพคร่อมชาติ เกิดตายจนสามชาติจึงครบกระบวนการ อย่างนี้มันปฏิบัติไม่ได้ ดับทุกข์ไม่ได้ อย่างนี้เป็นการอธิบายของพระพุทธโฆสาจารย์ ท่านเป็นพราหมณ์มาก่อน ไปเอาความคิดของพราหมณ์มา
อ้าว ไปๆ มาๆ พระพุทธโฆสาจารย์กลายเป็นจำเลยไปเลย ทั้งที่พระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงอิทัปปัจจยตาไว้ทั้งสองนัย นัยชั่วขณะจิตก็มี นัยคร่อมภพคร่อมชาติก็มี
เมื่อสนใจเฉพาะนัยชั่วขณะจิต เวลารวบรวม ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ ท่านก็ตัดพระสูตรที่พูดถึงการเกิด การตาย ที่เป็นการเกิดจากท้องแม่จริง ตายด้วยการดับขันธ์จริง ทิ้งหมด เอาเฉพาะนัยที่ท่านต้องการ
พระพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ก็เช่นกัน เมื่อรวบรวมพุทธพจน์ที่ตรัสเล่าเรื่องราวของพระองค์แก่พระสาวกทั้งหลาย ท่านนำมาหมด พอถึงตอนประสูติ ที่ว่าเดินได้เจ็ดก้าว เปล่งอาสภิวาจาอะไรทำนองนี้ ท่านตัดออกหมด
อย่างนี้หรือเปล่าที่หลวงพ่อปยุตฺโตท่านว่า ผู้แปลหรือตีความพระไตรปิฎก นอกจากจะรู้ลึกรู้รอบเป็นพหูสูตแล้ว ยังต้องซื่อตรงต่อพระไตรปิฎกด้วย สิ่งที่หลวงพ่อพุทธทาสน่าจะทำ (ซึ่งทำในประเด็นอื่นหลายแห่งเช่นเรื่อง สูกรมัททวะ เป็นต้น) ก็คือ ยกพุทธวจนะมาทั้งหมด แล้วแสดงทรรศนะส่วนตนว่า น่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จะสวยมากทีเดียว
ส่วนหลวงแม่ธัมมนันทา เนื่องจากมีกระแสต่อต้านเรื่องภิกษุมากในประเทศนี้ ท่านจึงตีความเรื่องภิกษุณีตามมหาโคตมีสูตรไว้น่าฟังทีเดียว ผู้อ่านไม่ได้ฟัง ก็ต้องหาเอกสาร ซึ่งเขาอาจทำภายหลังมาศึกษาแล้วกัน
ผมเองก็มีประเด็นเรื่องภิกษุณีจะพูด แต่เวลาไม่อำนวย ถ้ามีเวลาจะนำมาพูดภายหลัง
ต้องขอบคุณผู้จัดสัมมนา ที่เลือกเรื่องน่ารู้มาอภิปรายกัน แม้จะอยู่ในแวดวงแคบๆ (ซึ่งเป็นธรรมดาของเรื่องทางวิชาการ) ผู้ฟังที่นับตัวได้ ก็อาจนำไปต่อยอดในภายหลัง
ถ้าจัดตามเทรนด์เช่นเรื่อง เจ้าชายผู้ทรงเสน่ห์ จิ๊กมี วังชุก คงจะมีนักศึกษาสาวๆ กรี๊ดกร๊าดเต็มห้องประชุมทีเดียว
ที่มา : นสพ. นสพ.มติชน 20 ส.ค.49

ทำอย่างไร ให้วัดเป็นศูนย์กลางของสังคมไทย ทุกรูปแบบ

สถานการณ์ในปัจจุบันที่โลกกำลังเปลี่ยน แปลงอย่างรวดเร็ว และหลายๆ ประเทศก็ชู เศรษฐกิจ เป็นอันดับแรก ๆ ในการ(พัฒนาประเทศ ประเทศไทยของเราก็อยู่ในข่ายประเทศที่ใช้เศรษฐกิจ เป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ผู้นำของประเทศต่าง ๆ หากมีการประชุมสัมมนาพบปะกัน เมื่อใดที่ไหน ก็จะพูดเรื่องเศรษฐกิจกันเป็นเรื่องสำคัญมากทีเดียว แล้วเราชาวพุทธมีวัดวาอารามอยู่กว่า ๓๐,๐๐๐ วัด จะอยู่นิ่งเฉยอยู่หรือ ไม่เหลียวหลังและเดินไปข้างหน้ากับเขาบ้างหรือ ผู้เขียนคิดว่า วัดในประเทศไทย น่าจะช่วย พัฒนาสังคมไทยได้มาก ซึ่งหลาย ๆ วัด ก็ได้ทำไปมากแล้ว มีประชาชนให้ความสนใจ ให้ความร่วมมือร่วมกิจกรรมที่วัดทำอยู่เป็นจำนวนมาก แต่หลายวัดก็ยัง ไม่เคลื่อนไหว ว่าจะทำอะไร จะทำอย่างไร ให้วัดของเราเป็นศูนย์กลางของสังคมไทยทุกรูปแบบ ให้ได้เหมือนกับสมัยเมื่อ ๕๐-๖๐ ปี ที่ผ่านมา
ผู้เขียนคิดว่า ยังไม่สายเกินไปที่วัดต่าง ๆ จะได้เริ่มปฏิบัติทดลองทำได้แล้ว และหลาย ๆ วัดที่ทำอย ู่แล้วก็ทำให้มากขึ้น จะมีประชาชนทุกเพศทุกวัยร่วมงานมากขึ้น ผู้เขียนขอเสนอหลักการ ทำวัดให้เป็นศูนย์กลางของ สังคมไทยทุกรูปแบบสัก ๑๐ ประการ คือ
๑. ทำวัดให้เป็นสถานศึกษาครบวงจร ซึ่งปัจจุบันวัดใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตั้งอยู่ จำนวนมากพอสมควร แต่ยังไม่พึ่งพาอาศัยและอนุเคราะห์เกื้อกูลกันมากนัก ตัวอย่างเช่น โรงเรียนที่อยู่ในบริเวณ ที่ดินของวัดทำรั้วทำกำแพงกั้น ระหว่างวัดกับโรงเรียนอย่างมั่นคงแข็งแรง เหมือนกับโกรธกันมาเป็น ๑๐๐ ปี กระมัง หรือท่านเจ้าอาวาส กับหัวหน้าสถานศึกษาไม่ถูกกัน ไม่กินเส้นกัน มีความขัดแย้ง อยู่เสมอ เลยถือโอกาสทำรั้ว ทำกำแพงกั้นเสียเลย บางโรงเรียนที่อยู่ในที่ดินของวัด อาคารเรียนและอุปกรณ์การเรียนการสอน วัดก็จัดหาให้ด้วย แต่วันดีคืนดี โรงเรียนที่มีชื่อวัดนำหน้า ชื่อโรงเรียนก็ตัดคำว่า วัด ออกเสีย บางโรงเรียนผู้บริหาร ไปเรียนต่อต่างประเทศ จบปริญญาโท เอก ไปอยู่โรงเรียนเดิมไม่สามารถปรับตัว เข้ากับท่านเจ้าอาวาสได้ด้วยประการต่าง ๆ หรือ ผู้บริหารสถานศึกษาที่มิได้นับถือศาสนาพุทธ แต่ถูกบรรจุแต่งตั้งไปอยู่ในโรงเรียนของวัดก็มี ที่ยกตัวอย่างมานี้ เป็นอุปสรรคและปัญหา ในการพัฒนาโรงเรียนและพัฒนาวัดให้เจริญก้าวหน้าทั้งสิ้น ทางที่ดีแล้วท่านเจ้าอาวาส และผู้บริหารสถานศึกษาต้องหันหน้าเข้าหากัน โดยผู้บริหารสถานศึกษาต้องไปพบปะ ท่านเจ้าอาวาส ก่อนก็จะเป็นการดี และวัดใดที่มีพระภิกษุ ที่มีคุณวุฒิ นักธรรมเอก หรือ เปรียญธรรมหรือพุทธศาสตรบัณฑิต หรือศาสนศาสตรบัณฑิต จะต้องขออนุญาตจากหัวหน้า สถานศึกษาให้พระภิกษุที่มีความรู้ความสามารถ ได้เข้าไปสอน วิชาพระพุทธศาสนา ทุกชั้นเรียนด้วย เพราะปัจจุบันนักเรียนที่เป็นชาวพุทธไม่มีความรู้เรื่อง พระพุทธศาสนามีเป็นจำนวนมาก แต่ไปรู้เรื่องของศาสนาอื่น นี้คือจุดเสื่อมของพระพุทธ-ศาสนาโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือไม่มีเจตนาชนิดที่ว่า "ไม่เห็นโลงศพก็ไม่หลั่งน้ำตา" เพราะฉะนั้น วัดกับโรงเรียนจะต้องร่วมมือกันดังคำกล่าวที่ว่าทำ บ้าน วัด โรงเรียน "(บวร)" ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ประสานสัมพันธ์พึ่งพาอาศัยกัน สังคมไทยก็จะน่าอยู่น่าอาศัยไปนานแสนนาน
๒. ทำวัดให้เป็นสถานสงเคราะห์ วัดหลายแห่งได้ช่วยเหลือสงเคราะห์ประชาชน ที่ได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อน ในรูปของสิ่งของเครื่องใช้ และเงินทอง ในกรณีต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง อากาศหนาว วาตภัย ไฟไหม้ ฯลฯ อยู่เป็นประจำ บางวัดจัดหน่วยสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชนขึ้นเอง หรือร่วมมือกับหน่วยงานของทางราชการ ซึ่งวัดไม่ได้เป็นเพียงผู้รับบริจาคเพียงอย่างเดียว แต่วัดก็เป็นผู้บริจาคให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชนด้วยการลดทิฏฐิของคนบางกลุ่มที่ว่า "วัดดีแต่รับเท่านั้น"
๓. ทำวัดให้เป็นสถานพยาบาล วัดที่มีความพร้อมสามารถจัดให้มี สถานพยาบาลภายในบริเวณวัดได้ เพราะปัจจุบันสถานพยาบาลของทางราชการมีไม่เพียงพอ ที่จะให้บริการก่ประชาชน และโรคที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ก็มีมาก เช่น โรคเอดส์ ยาเสพติดทุกชนิด บางวัดก็มีกองทุน มีมูลนิธิให้บริการช่วยเหลือสถานพยาบาลอยู่ก็มี ถ้าวัดต่าง ๆ หันมาให้ความสนใจ แพทย์แผนโบราณ เช่น การนวดแผนโบราณ หรือยาสมุนไพรต่าง ๆ โดยการปลูก การสกัดสมุนไพรเป็นยาและการบำบัดรักษา สิ่งเหล่านี้ ถ้าทางวัดจัดทำได้ ก็สามารถนำประชาชนเข้าวัดได้ทางหนึ่ง ประชาชนจะไม่ห่างจากวัดอย่างแน่นอน
๔. ทำวัดให้เป็นที่พักของคนเดินทาง วัดที่ตั้งอยู่ตามเมืองใหญ่ ๆ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พิษณุโลก สุโขทัย หนองคาย อุบลราชธานี ขอนแก่น นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ภูเก็ต ตรัง ฯลฯ ในฤดูกาลท่องเที่ยว จะมีคณะนักเรียน นักศึกษา อุบาสก อุบาสิกา ไปขอพักชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวหรือกิจกรรมอื่น ๆ โดยวัดไม่ต้องเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่าย แต่ให้คณะที่ไปพักทำบุญหรือบริจาคกันเอง ก็จะเข้าลักษณะของการให้ที่พักแก่คนเดินทางได้ ซึ่งถ้าวัดบริการดี ผู้ที่ไปพักอาศัยจะจดจำไปนานแสน
๕. ทำวัดให้เป็นสโมสรของชาวบ้าน ประชาชนในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จะมีการรวมตัวประชุม พบปะ หรือจัดกิจกรรมต่าง ๆ กันอยู่เสมอ ถ้าวัดใดสามารถจัดสถานที่ ให้ประชาชนเข้ามาใช้ได้ เช่น ศาลาการเปรียญ เป็นต้น แทนที่ประชาชนจะไปใช้ศาลาประชาคม ประจำหมู่บ้าน ตำบล ก็จะมาใช้บริการของวัด หากได้รับความสะดวก ท่านเจ้าอาวาสก็เป็นกันเอง ต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดี จะทำให้วัดกับบ้านพึ่งพาอาศัยกันมากขึ้น เข้าทำนองบทกลอนที่ว่า "บ้านกับวัดผลัดกันช่วยยิ่งอวยชัย ถ้าขัดกันก็บรรลัยทั้งสองทาง"
๖. ทำวัดให้เป็นสถานที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท วัดใดท่านเจ้าอาวาสเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน ในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด เมื่อประชาชนมีความทุกข์ ความเดือดร้อน มีกรณีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่ไม่ร้ายแรง ถ้าท่านเจ้าอาวาสช่วยระงับข้อพิพาทได้ โดยไม่ต้องไปหาเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ ก็จะเพิ่มความเชื่อถือเลื่อมใสศรัทธาให้ประชาชนเข้าวัดมากขึ้น หรือถ้าให้ธรรมะไปประยุกต์ใช้ใน การดำรงชีวิตด้วยแล้ว พระพุทธ-ศาสนาก็จะเจริญและมั่นคงยิ่งขึ้น
๗. ทำวัดให้เป็นศูนย์กลางของศิลปวัฒนธรรม ในบริเวณวัดถ้าสามารถ จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ของวัดได้ หรือให้หน่วยงานของทางราชการจัดทำพิพิธภัณฑ์อยู่แล้ว ทางวัดจะมีกิจกรรมอะไรเป็นการเสริมส่วนที่เป็นของวัดด้วยก็จะดีมาก เพราะหลายวัด ที่สร้างมานาน ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย สมัยกรุงศรี-อยุธยา สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จะมีสิ่งของต่าง ๆ ที่มีประชาชนบริจาคไว้ หรืออดีตเจ้าอาวาสองค์ก่อน ๆ จัดหาไว้ ซึ่งส่วนใหญ่จะบ่งบอก ถึงศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามทั้งนั้น น่าจะนำมาแสดง หรือจัดนิทรรศการให้ประชาชน เยาวชน ได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้เยาวขนเข้าใจหลักธรรมของพระพุทธศาสนามากขึ้น
๘. ทำวัดให้เป็นคลังพัสดุ วัดในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดหลาย ๆ วัด ทำอยู่แล้วสามารถให้ยืมสิ่งของต่าง ๆ ไปใช้ที่บ้าน เมื่อทางบ้านมีงาน หรือกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้น เช่น ยืมโต๊ะหมู่บูชา ยืมถ้วยชาม ฯลฯ งานเสร็จแล้วนำสิ่งของส่งคืนวัด ก็จะทำบุญเพิ่มสิ่งของ ให้มากขึ้น วัดก็จะเป็นแหล่งคลังพัสดุของหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ตลอดไป
๙. ทำวัดให้เป็นศูนย์กลางการบริหารการปกครอง ถ้าวัดใดสามารถให้ความร่วมมือกับทางราชการ ในการจัดประชุมสัมมนา ได้เป็นครั้งคราว หรือแม้แต่งานของคณะสงฆ์เอง ภายในตำบล อำเภอ จังหวัด หรือมีสถานที่ให้หน่วยงานของทางราชการ มาทำเป็นสำนักงานภายในวัดได้ หรือหน่วยงานของคณะสงฆ์ ที่จะเกิดขึ้นใหม่ เช่น สำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัด อำเภอ จะทำให้ประชาชนมาใช้บริการและใกล้ชิดกับวัดมากขึ้น ประชาชนจะไม่ห่างจากวัด
๑๐. ทำวัดให้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันปิยมหาราช วันสถาปนาของหน่วยงานต่าง ๆ ถ้าสามารถจัดในวัดได้ ที่นอกเหนือ จากงานพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งทางวัดจัดทำอยู่แล้ว ถ้าสามารถ ให้ประชาชน ในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ มาจัดในวัดได้ก็จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนเข้าวัด มากขึ้นเช่นกัน
ตามที่นำเสนอทั้ง ๑๐ ประการนี้ วัดทั้งในกรุงเทพฯและ ต่างจังหวัด ได้ปฏิบัติ จัดทำอยู่แล้วแต่ไม่ครบทุกข้อแล้วแต่ความพร้อม ของแต่ละวัดถ้าวัดใดยังไม่ได้ ปฏิบัติจัดทำเลย ก็โปรดลงมือทดลอง ทำตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อให้วัดเป็นศูนย์กลาง ของชุมชน ของสังคม เป็นผู้นำของหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ดังในอดีต ที่ผ่านมาเมื่อ ๕๐-๖๐ ปี โดยชักชวน ลูกหลาน เหลน โหลน เข้าวัดด้วย ทั้งนี้เพื่อให้พระพุทธศาสนา เข้มแข็ง มีความมั่นคงไม่สูญสิ้นไปจาก ประเทศไทยอีกนานแสนนาน
ฉะนั้น ขอให้คณะพุทธบริษัท จงรีบสำรวจว่าวัดของท่านทำได้กี่ข้อกี่เรื่องแล้ว ยังขาดเรื่องอะไรบ้าง โดยรวมตัวผนึกกำลังวัดต่าง ๆ ในเขตปกครองทำเป็นกลุ่ม ตำบลละ ๑ วัด ถ้ามีหลายวัด หรือในหลาย ๆ วัดต่อ ๑ อำเภอ เพราะถ้าต่างวัดต่างทำจะไม่เข้มแข็งและมีกำลังคน กำลังงบประมาณไม่เพียงพอ จะทำไม่สำเร็จ ถ้าท่านเจ้าอาวาสยังคิดว่า ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร พระพุทธศาสนาไม่มีใครทำอะไรได้ ยังถือหลักอุเบกขาอยู่ ก็จะตามไม่ทันสถานการณ์ ของบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันในมาตรา ๓๘ และมาตรา ๗๓ กำหนดให้ประชาชนมีเสรีภาพ ในการนับถือศาสนา และนิกายที่ หลากหลายมากขึ้น ประกอบกับทุกศาสนา รัฐให้ความสำคัญเท่าเทียมกันทุกศาสนา และถ้าท่าน เจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ ติดตามสถานการณ์อยู่เสมอจะพบว่า
๑. จำนวนวัดร้างเพิ่มมากขึ้นประมาณ ๖,๐๐๐ วัด และขณะนี้นักการเมือง กำลังจ้องมอง วัดร้างเหล่านี้ว่าจะนำที่ดินไปทำให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร ซึ่งนักการเมือง ได้ทำกับที่ดินของวัดธรรมมิการาม จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ดินอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี โดยทำเป็น สนามกอล์ฟอัลไพน์และที่ดินจัดสรรเป็นบ้านพักอาศัย สำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้ว
๒. จำนวนพระภิกษุ สามเณร อยู่จำพรรษา แต่ละปีมีประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ รูป ออกพรรษาจะลดจำนวนเหลือ อยู่ประมาณ ๒๓๐,๐๐๐ รูป มาประมาณ ๒๐ ปีแล้ว ไม่มีการเพิ่มขึ้นมีแต่ลดลงเรื่อย ๆ นี่แสดงว่าการบวชเรียนของ พระภิกษุ สามเณร ลดลง จำนวนไม่เพิ่มขึ้น
๓. ที่คุยกันว่า ในประเทศไทยมีชาวพุทธประมาณ ๕๗-๕๘ ล้านคนนั้น น่าจะเป็นตัวเลขที่ไม่ถูกต้อง จำนวนชาวพุทธลดลง ขณะนี้จะมีประมาณ ๕๕ ล้านคน เป็นชาวพุทธที่มีความรู้ความเข้าใจหลักของพระพุทธศาสนาจริง ๆ และนำธรรมะของ พระพุทธศาสนาไปปฏิบัติอยู่เป็นนิตย์ประมาณสัก ๒-๓ ล้านคน นอกนั้นจะเป็นชาวพุทธ ตามทะเบียนบ้าน
๔. การเรียนการสอนนักธรร, บาลี ไม่มีการปรัปรุงให้ สอดคล้องกับการศึกษา ทางโลกและไม่สามารถถ่ายโอนหน่วยการเรียนกันได้ กุลบุตรในท้องถิ่นจึงมุ่ง ไปเรียนทางโลก มากกว่ามาบวชเรียนเป็นพระภิกษุ สามเณร และเมื่อ วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๕ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม "หลักสูตรใหม่เด็กไทยพัฒนาฯ" ณ สถาบัน ราชภัฎสวนดุสิต ติงว่าสาระการเรียนรู้วิชาพระพุทธศาสนานั้น กรอบความคิดดีแล้ว แต่รายละเอียด มากเกินไป หากใครเรียนจบพระพุทธศาสนาตามหลักสูตรใหม่เหมือนจบ ปริญญาเอกทางพระ อยากให้เน้นสอนหน้าที่พลเมืองมากกว่า และไปเพิ่มน้ำหนักวิชาคณิต-ศาสตร ์และภาษาอังกฤษ ให้มากขึ้น* นับว่าเป็นความคิดที่ดี แต่การที่จะตัดวิชาพระพุทธศาสนาให้น้อยลง ไม่ถูกต้อง แน่นอน เพราะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นักเรียนนักศึกษาที่เป็นชาวพุทธ มีความรู้ ความเข้าใจใน พระพุทธศาสนาน้อยมาก จึงจำเป็นต้องสอนวิชาพระพุทธศาสนา ทุกโรงเรียนแก่ นักเรียนที่เป็น พุทธ-ศาสนิกชนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงปริญญาตรีเป็นอย่างน้อย ซึ่งความยากง่าย ของหลักสูตร ปรับเปลี่ยนได้ทุกชั้นเรียน เพราะนักเรียนนักศึกษาที่มีความเครียด เป็นโรคจิต โรคประสาท ถึงฆ่าตัวตายมีอยู่ทุกวัน เนื่องจากขาดธรรมะในวิชา พระพุทธศาสนาไป ชโลมจิต ใจนั่นเอง วิชาพระพุทธศาสนาถ้านำไปใช้เป็น จะสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ของโลกได้ทุกเรื่อง เมื่อตอนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายก รัฐมนตรี ใหม่ ๆ ได้ไปพบพระมหาเถระรูปหนึ่ง แล้วท่านพระมหาเถระรูปนั้นได้มอบร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ..... ให้ด้วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์ว่า "ผมเป็นชาวพุทธ ๑๐๐ % จะดูแลให้ดีที่สุด" ซึ่งขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ..... ถูกเก็บดองไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เกือบ ๒ ปีแล้ว นี้หมายความว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการให้ชาวพุทธเป็นอะไร พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นชาวพุทธจริงหรือไม่ ชาวพุทธ กำลังสงสัยกันอยู่หรือว่าพระภิกษุ ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ได้เลยไม่ต้องหาเสียงกับพระ ประกอบกับ ขณะนี้นักการเมือง นักบริหาร นักวิชาการ ครูอาจารย์ นิสิต นักศึกษา ฯลฯ ในระดับต่าง ๆ กำลังเพ่งมองมาที่วัดของเราว่า ใช้เงินลงทุนสร้างวัดใหญ่โต หรูหรา สวยงาม มีสิ่งอำนวย ความสะดวกมากมาย แต่การใช้สอยไม่คุ้มทุน ไม่คุ้มค่า ชาวบ้านรอบ ๆ บริเวณวัดยังยากจนอยู่ เป็นการสูญเสีย ทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก
ทำอย่างไร ? ให้วัดเป็นศูนย์กลางของสังคมไทย ทุกรูปแบบ
จาก น.ส.พ. ไทยรัฐ หน้า ๑๕ และเดลินิวส์ หน้า ๑๕ : ๒๖ ธ.ค. ๒๕๔๕
สถานการณ์ในปัจจุบันที่โลกกำลังเปลี่ยน แปลงอย่างรวดเร็ว และหลายๆ ประเทศก็ชู เศรษฐกิจ เป็นอันดับแรก ๆ ในการ(พัฒนาประเทศ ประเทศไทยของเราก็อยู่ในข่ายประเทศที่ใช้เศรษฐกิจ เป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ผู้นำของประเทศต่าง ๆ หากมีการประชุมสัมมนาพบปะกัน เมื่อใดที่ไหน ก็จะพูดเรื่องเศรษฐกิจกันเป็นเรื่องสำคัญมากทีเดียว แล้วเราชาวพุทธมีวัดวาอารามอยู่กว่า ๓๐,๐๐๐ วัด จะอยู่นิ่งเฉยอยู่หรือ ไม่เหลียวหลังและเดินไปข้างหน้ากับเขาบ้างหรือ ผู้เขียนคิดว่า วัดในประเทศไทย น่าจะช่วย พัฒนาสังคมไทยได้มาก ซึ่งหลาย ๆ วัด ก็ได้ทำไปมากแล้ว มีประชาชนให้ความสนใจ ให้ความร่วมมือร่วมกิจกรรมที่วัดทำอยู่เป็นจำนวนมาก แต่หลายวัดก็ยัง ไม่เคลื่อนไหว ว่าจะทำอะไร จะทำอย่างไร ให้วัดของเราเป็นศูนย์กลางของสังคมไทยทุกรูปแบบ ให้ได้เหมือนกับสมัยเมื่อ ๕๐-๖๐ ปี ที่ผ่านมา
ผู้เขียนคิดว่า ยังไม่สายเกินไปที่วัดต่าง ๆ จะได้เริ่มปฏิบัติทดลองทำได้แล้ว และหลาย ๆ วัดที่ทำอย ู่แล้วก็ทำให้มากขึ้น จะมีประชาชนทุกเพศทุกวัยร่วมงานมากขึ้น ผู้เขียนขอเสนอหลักการ ทำวัดให้เป็นศูนย์กลางของ สังคมไทยทุกรูปแบบสัก ๑๐ ประการ คือ
๑. ทำวัดให้เป็นสถานศึกษาครบวงจร ซึ่งปัจจุบันวัดใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตั้งอยู่ จำนวนมากพอสมควร แต่ยังไม่พึ่งพาอาศัยและอนุเคราะห์เกื้อกูลกันมากนัก ตัวอย่างเช่น โรงเรียนที่อยู่ในบริเวณ ที่ดินของวัดทำรั้วทำกำแพงกั้น ระหว่างวัดกับโรงเรียนอย่างมั่นคงแข็งแรง เหมือนกับโกรธกันมาเป็น ๑๐๐ ปี กระมัง หรือท่านเจ้าอาวาส กับหัวหน้าสถานศึกษาไม่ถูกกัน ไม่กินเส้นกัน มีความขัดแย้ง อยู่เสมอ เลยถือโอกาสทำรั้ว ทำกำแพงกั้นเสียเลย บางโรงเรียนที่อยู่ในที่ดินของวัด อาคารเรียนและอุปกรณ์การเรียนการสอน วัดก็จัดหาให้ด้วย แต่วันดีคืนดี โรงเรียนที่มีชื่อวัดนำหน้า ชื่อโรงเรียนก็ตัดคำว่า วัด ออกเสีย บางโรงเรียนผู้บริหาร ไปเรียนต่อต่างประเทศ จบปริญญาโท เอก ไปอยู่โรงเรียนเดิมไม่สามารถปรับตัว เข้ากับท่านเจ้าอาวาสได้ด้วยประการต่าง ๆ หรือ ผู้บริหารสถานศึกษาที่มิได้นับถือศาสนาพุทธ แต่ถูกบรรจุแต่งตั้งไปอยู่ในโรงเรียนของวัดก็มี ที่ยกตัวอย่างมานี้ เป็นอุปสรรคและปัญหา ในการพัฒนาโรงเรียนและพัฒนาวัดให้เจริญก้าวหน้าทั้งสิ้น ทางที่ดีแล้วท่านเจ้าอาวาส และผู้บริหารสถานศึกษาต้องหันหน้าเข้าหากัน โดยผู้บริหารสถานศึกษาต้องไปพบปะ ท่านเจ้าอาวาส ก่อนก็จะเป็นการดี และวัดใดที่มีพระภิกษุ ที่มีคุณวุฒิ นักธรรมเอก หรือ เปรียญธรรมหรือพุทธศาสตรบัณฑิต หรือศาสนศาสตรบัณฑิต จะต้องขออนุญาตจากหัวหน้า สถานศึกษาให้พระภิกษุที่มีความรู้ความสามารถ ได้เข้าไปสอน วิชาพระพุทธศาสนา ทุกชั้นเรียนด้วย เพราะปัจจุบันนักเรียนที่เป็นชาวพุทธไม่มีความรู้เรื่อง พระพุทธศาสนามีเป็นจำนวนมาก แต่ไปรู้เรื่องของศาสนาอื่น นี้คือจุดเสื่อมของพระพุทธ-ศาสนาโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือไม่มีเจตนาชนิดที่ว่า "ไม่เห็นโลงศพก็ไม่หลั่งน้ำตา" เพราะฉะนั้น วัดกับโรงเรียนจะต้องร่วมมือกันดังคำกล่าวที่ว่าทำ บ้าน วัด โรงเรียน "(บวร)" ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ประสานสัมพันธ์พึ่งพาอาศัยกัน สังคมไทยก็จะน่าอยู่น่าอาศัยไปนานแสนนาน
๒. ทำวัดให้เป็นสถานสงเคราะห์ วัดหลายแห่งได้ช่วยเหลือสงเคราะห์ประชาชน ที่ได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อน ในรูปของสิ่งของเครื่องใช้ และเงินทอง ในกรณีต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง อากาศหนาว วาตภัย ไฟไหม้ ฯลฯ อยู่เป็นประจำ บางวัดจัดหน่วยสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชนขึ้นเอง หรือร่วมมือกับหน่วยงานของทางราชการ ซึ่งวัดไม่ได้เป็นเพียงผู้รับบริจาคเพียงอย่างเดียว แต่วัดก็เป็นผู้บริจาคให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชนด้วยการลดทิฏฐิของคนบางกลุ่มที่ว่า "วัดดีแต่รับเท่านั้น"
๓. ทำวัดให้เป็นสถานพยาบาล วัดที่มีความพร้อมสามารถจัดให้มี สถานพยาบาลภายในบริเวณวัดได้ เพราะปัจจุบันสถานพยาบาลของทางราชการมีไม่เพียงพอ ที่จะให้บริการก่ประชาชน และโรคที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ก็มีมาก เช่น โรคเอดส์ ยาเสพติดทุกชนิด บางวัดก็มีกองทุน มีมูลนิธิให้บริการช่วยเหลือสถานพยาบาลอยู่ก็มี ถ้าวัดต่าง ๆ หันมาให้ความสนใจ แพทย์แผนโบราณ เช่น การนวดแผนโบราณ หรือยาสมุนไพรต่าง ๆ โดยการปลูก การสกัดสมุนไพรเป็นยาและการบำบัดรักษา สิ่งเหล่านี้ ถ้าทางวัดจัดทำได้ ก็สามารถนำประชาชนเข้าวัดได้ทางหนึ่ง ประชาชนจะไม่ห่างจากวัดอย่างแน่นอน
๔. ทำวัดให้เป็นที่พักของคนเดินทาง วัดที่ตั้งอยู่ตามเมืองใหญ่ ๆ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พิษณุโลก สุโขทัย หนองคาย อุบลราชธานี ขอนแก่น นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ภูเก็ต ตรัง ฯลฯ ในฤดูกาลท่องเที่ยว จะมีคณะนักเรียน นักศึกษา อุบาสก อุบาสิกา ไปขอพักชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวหรือกิจกรรมอื่น ๆ โดยวัดไม่ต้องเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่าย แต่ให้คณะที่ไปพักทำบุญหรือบริจาคกันเอง ก็จะเข้าลักษณะของการให้ที่พักแก่คนเดินทางได้ ซึ่งถ้าวัดบริการดี ผู้ที่ไปพักอาศัยจะจดจำไปนานแสน
๕. ทำวัดให้เป็นสโมสรของชาวบ้าน ประชาชนในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จะมีการรวมตัวประชุม พบปะ หรือจัดกิจกรรมต่าง ๆ กันอยู่เสมอ ถ้าวัดใดสามารถจัดสถานที่ ให้ประชาชนเข้ามาใช้ได้ เช่น ศาลาการเปรียญ เป็นต้น แทนที่ประชาชนจะไปใช้ศาลาประชาคม ประจำหมู่บ้าน ตำบล ก็จะมาใช้บริการของวัด หากได้รับความสะดวก ท่านเจ้าอาวาสก็เป็นกันเอง ต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดี จะทำให้วัดกับบ้านพึ่งพาอาศัยกันมากขึ้น เข้าทำนองบทกลอนที่ว่า "บ้านกับวัดผลัดกันช่วยยิ่งอวยชัย ถ้าขัดกันก็บรรลัยทั้งสองทาง"
๖. ทำวัดให้เป็นสถานที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท วัดใดท่านเจ้าอาวาสเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน ในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด เมื่อประชาชนมีความทุกข์ ความเดือดร้อน มีกรณีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่ไม่ร้ายแรง ถ้าท่านเจ้าอาวาสช่วยระงับข้อพิพาทได้ โดยไม่ต้องไปหาเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ ก็จะเพิ่มความเชื่อถือเลื่อมใสศรัทธาให้ประชาชนเข้าวัดมากขึ้น หรือถ้าให้ธรรมะไปประยุกต์ใช้ใน การดำรงชีวิตด้วยแล้ว พระพุทธ-ศาสนาก็จะเจริญและมั่นคงยิ่งขึ้น
๗. ทำวัดให้เป็นศูนย์กลางของศิลปวัฒนธรรม ในบริเวณวัดถ้าสามารถ จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ของวัดได้ หรือให้หน่วยงานของทางราชการจัดทำพิพิธภัณฑ์อยู่แล้ว ทางวัดจะมีกิจกรรมอะไรเป็นการเสริมส่วนที่เป็นของวัดด้วยก็จะดีมาก เพราะหลายวัด ที่สร้างมานาน ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย สมัยกรุงศรี-อยุธยา สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จะมีสิ่งของต่าง ๆ ที่มีประชาชนบริจาคไว้ หรืออดีตเจ้าอาวาสองค์ก่อน ๆ จัดหาไว้ ซึ่งส่วนใหญ่จะบ่งบอก ถึงศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามทั้งนั้น น่าจะนำมาแสดง หรือจัดนิทรรศการให้ประชาชน เยาวชน ได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้เยาวขนเข้าใจหลักธรรมของพระพุทธศาสนามากขึ้น
๘. ทำวัดให้เป็นคลังพัสดุ วัดในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดหลาย ๆ วัด ทำอยู่แล้วสามารถให้ยืมสิ่งของต่าง ๆ ไปใช้ที่บ้าน เมื่อทางบ้านมีงาน หรือกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้น เช่น ยืมโต๊ะหมู่บูชา ยืมถ้วยชาม ฯลฯ งานเสร็จแล้วนำสิ่งของส่งคืนวัด ก็จะทำบุญเพิ่มสิ่งของ ให้มากขึ้น วัดก็จะเป็นแหล่งคลังพัสดุของหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ตลอดไป
๙. ทำวัดให้เป็นศูนย์กลางการบริหารการปกครอง ถ้าวัดใดสามารถให้ความร่วมมือกับทางราชการ ในการจัดประชุมสัมมนา ได้เป็นครั้งคราว หรือแม้แต่งานของคณะสงฆ์เอง ภายในตำบล อำเภอ จังหวัด หรือมีสถานที่ให้หน่วยงานของทางราชการ มาทำเป็นสำนักงานภายในวัดได้ หรือหน่วยงานของคณะสงฆ์ ที่จะเกิดขึ้นใหม่ เช่น สำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัด อำเภอ จะทำให้ประชาชนมาใช้บริการและใกล้ชิดกับวัดมากขึ้น ประชาชนจะไม่ห่างจากวัด
๑๐. ทำวัดให้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันปิยมหาราช วันสถาปนาของหน่วยงานต่าง ๆ ถ้าสามารถจัดในวัดได้ ที่นอกเหนือ จากงานพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งทางวัดจัดทำอยู่แล้ว ถ้าสามารถ ให้ประชาชน ในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ มาจัดในวัดได้ก็จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนเข้าวัด มากขึ้นเช่นกัน
ตามที่นำเสนอทั้ง ๑๐ ประการนี้ วัดทั้งในกรุงเทพฯและ ต่างจังหวัด ได้ปฏิบัติ จัดทำอยู่แล้วแต่ไม่ครบทุกข้อแล้วแต่ความพร้อม ของแต่ละวัดถ้าวัดใดยังไม่ได้ ปฏิบัติจัดทำเลย ก็โปรดลงมือทดลอง ทำตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อให้วัดเป็นศูนย์กลาง ของชุมชน ของสังคม เป็นผู้นำของหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ดังในอดีต ที่ผ่านมาเมื่อ ๕๐-๖๐ ปี โดยชักชวน ลูกหลาน เหลน โหลน เข้าวัดด้วย ทั้งนี้เพื่อให้พระพุทธศาสนา เข้มแข็ง มีความมั่นคงไม่สูญสิ้นไปจาก ประเทศไทยอีกนานแสนนาน
ฉะนั้น ขอให้คณะพุทธบริษัท จงรีบสำรวจว่าวัดของท่านทำได้กี่ข้อกี่เรื่องแล้ว ยังขาดเรื่องอะไรบ้าง โดยรวมตัวผนึกกำลังวัดต่าง ๆ ในเขตปกครองทำเป็นกลุ่ม ตำบลละ ๑ วัด ถ้ามีหลายวัด หรือในหลาย ๆ วัดต่อ ๑ อำเภอ เพราะถ้าต่างวัดต่างทำจะไม่เข้มแข็งและมีกำลังคน กำลังงบประมาณไม่เพียงพอ จะทำไม่สำเร็จ ถ้าท่านเจ้าอาวาสยังคิดว่า ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร พระพุทธศาสนาไม่มีใครทำอะไรได้ ยังถือหลักอุเบกขาอยู่ ก็จะตามไม่ทันสถานการณ์ ของบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันในมาตรา ๓๘ และมาตรา ๗๓ กำหนดให้ประชาชนมีเสรีภาพ ในการนับถือศาสนา และนิกายที่ หลากหลายมากขึ้น ประกอบกับทุกศาสนา รัฐให้ความสำคัญเท่าเทียมกันทุกศาสนา และถ้าท่าน เจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ ติดตามสถานการณ์อยู่เสมอจะพบว่า
๑. จำนวนวัดร้างเพิ่มมากขึ้นประมาณ ๖,๐๐๐ วัด และขณะนี้นักการเมือง กำลังจ้องมอง วัดร้างเหล่านี้ว่าจะนำที่ดินไปทำให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร ซึ่งนักการเมือง ได้ทำกับที่ดินของวัดธรรมมิการาม จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ดินอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี โดยทำเป็น สนามกอล์ฟอัลไพน์และที่ดินจัดสรรเป็นบ้านพักอาศัย สำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้ว
๒. จำนวนพระภิกษุ สามเณร อยู่จำพรรษา แต่ละปีมีประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ รูป ออกพรรษาจะลดจำนวนเหลือ อยู่ประมาณ ๒๓๐,๐๐๐ รูป มาประมาณ ๒๐ ปีแล้ว ไม่มีการเพิ่มขึ้นมีแต่ลดลงเรื่อย ๆ นี่แสดงว่าการบวชเรียนของ พระภิกษุ สามเณร ลดลง จำนวนไม่เพิ่มขึ้น
๓. ที่คุยกันว่า ในประเทศไทยมีชาวพุทธประมาณ ๕๗-๕๘ ล้านคนนั้น น่าจะเป็นตัวเลขที่ไม่ถูกต้อง จำนวนชาวพุทธลดลง ขณะนี้จะมีประมาณ ๕๕ ล้านคน เป็นชาวพุทธที่มีความรู้ความเข้าใจหลักของพระพุทธศาสนาจริง ๆ และนำธรรมะของ พระพุทธศาสนาไปปฏิบัติอยู่เป็นนิตย์ประมาณสัก ๒-๓ ล้านคน นอกนั้นจะเป็นชาวพุทธ ตามทะเบียนบ้าน
๔. การเรียนการสอนนักธรร, บาลี ไม่มีการปรัปรุงให้ สอดคล้องกับการศึกษา ทางโลกและไม่สามารถถ่ายโอนหน่วยการเรียนกันได้ กุลบุตรในท้องถิ่นจึงมุ่ง ไปเรียนทางโลก มากกว่ามาบวชเรียนเป็นพระภิกษุ สามเณร และเมื่อ วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๕ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม "หลักสูตรใหม่เด็กไทยพัฒนาฯ" ณ สถาบัน ราชภัฎสวนดุสิต ติงว่าสาระการเรียนรู้วิชาพระพุทธศาสนานั้น กรอบความคิดดีแล้ว แต่รายละเอียด มากเกินไป หากใครเรียนจบพระพุทธศาสนาตามหลักสูตรใหม่เหมือนจบ ปริญญาเอกทางพระ อยากให้เน้นสอนหน้าที่พลเมืองมากกว่า และไปเพิ่มน้ำหนักวิชาคณิต-ศาสตร ์และภาษาอังกฤษ ให้มากขึ้น* นับว่าเป็นความคิดที่ดี แต่การที่จะตัดวิชาพระพุทธศาสนาให้น้อยลง ไม่ถูกต้อง แน่นอน เพราะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นักเรียนนักศึกษาที่เป็นชาวพุทธ มีความรู้ ความเข้าใจใน พระพุทธศาสนาน้อยมาก จึงจำเป็นต้องสอนวิชาพระพุทธศาสนา ทุกโรงเรียนแก่ นักเรียนที่เป็น พุทธ-ศาสนิกชนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงปริญญาตรีเป็นอย่างน้อย ซึ่งความยากง่าย ของหลักสูตร ปรับเปลี่ยนได้ทุกชั้นเรียน เพราะนักเรียนนักศึกษาที่มีความเครียด เป็นโรคจิต โรคประสาท ถึงฆ่าตัวตายมีอยู่ทุกวัน เนื่องจากขาดธรรมะในวิชา พระพุทธศาสนาไป ชโลมจิต ใจนั่นเอง วิชาพระพุทธศาสนาถ้านำไปใช้เป็น จะสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ของโลกได้ทุกเรื่อง เมื่อตอนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายก รัฐมนตรี ใหม่ ๆ ได้ไปพบพระมหาเถระรูปหนึ่ง แล้วท่านพระมหาเถระรูปนั้นได้มอบร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ..... ให้ด้วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์ว่า "ผมเป็นชาวพุทธ ๑๐๐ % จะดูแลให้ดีที่สุด" ซึ่งขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ..... ถูกเก็บดองไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เกือบ ๒ ปีแล้ว นี้หมายความว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการให้ชาวพุทธเป็นอะไร พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นชาวพุทธจริงหรือไม่ ชาวพุทธ กำลังสงสัยกันอยู่หรือว่าพระภิกษุ ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ได้เลยไม่ต้องหาเสียงกับพระ ประกอบกับ ขณะนี้นักการเมือง นักบริหาร นักวิชาการ ครูอาจารย์ นิสิต นักศึกษา ฯลฯ ในระดับต่าง ๆ กำลังเพ่งมองมาที่วัดของเราว่า ใช้เงินลงทุนสร้างวัดใหญ่โต หรูหรา สวยงาม มีสิ่งอำนวย ความสะดวกมากมาย แต่การใช้สอยไม่คุ้มทุน ไม่คุ้มค่า ชาวบ้านรอบ ๆ บริเวณวัดยังยากจนอยู่ เป็นการสูญเสีย ทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

ทำอย่างไร ? ให้วัดเป็นศูนย์กลางของสังคมไทย ทุกรูปแบบจาก น.ส.พ. ไทยรัฐ หน้า ๑๕ และเดลินิวส์ หน้า ๑๕ : ๒๖ ธ.ค. ๒๕๔๕

พุทธศาสนากับจิตวิทยาสังคมไทย

พระพุทธศาสนาจะเยียวยาโลกในช่วงวิกฤตนี้ ได้หรือไม่?วิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลกระทบต่อ ทั้งมนุษย์ และ สังคมถือได้ว่า เป็นปัญหายิ่งใหญ่ที่สุด ที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน สู่ทศตวรรษหน้าที่กำลังมีการศึกษา ถึงรูปแบบต่างๆ ในการพัฒนาแบบยั่งยืนอยู่ ซึ่งเรื่องนี้คงจะไม่สำเร็จแน่ หากไม่มีการเปลี่ยนวิธีคิดขั้นพื้นฐาน อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวไว้ว่า 'เราจำต้องมีวิธีคิดแบบปฏิรูปอย่างถึงโคน มนุษยชาติจึงจะอยู่รอดต่อไปได้ได้มีการพยายามส่งเสริม 'วิธีคิดแบบใหม่' ในช่วงของการรณรงค์ต่อต้านสงครามนิวเคลียร์ จากภาวะวิกฤตทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งแท้จริงเป็นวิกฤตของมนุษยชาติเองด้วย วิธีคิดแบบใหม่ก็เป็นสิ่งที่จะต้องคำนึงถึง หรืออาจจะจำเป็นมากกว่าด้วยซ้ำ ส่วนมาก รูปแบบของวิธีคิดในปัจจุบันมักจะตกอยู่ใต้อิทธิพล ของแนวคิดแบบบริโภคนิยม และอรรถประโยชน์นิยม ซึ่งนั่นจะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างอุปาทานด้านทรัพยากรอันจำกัด กับอุปสงค์ ทางการบริโภควัตถุ อันไม่มีที่สิ้นสุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาการปรากฎ ของความขัดแย้ง นี้ก็คือ ความเครียด ความรุนแรง สงคราม วิกฤตการณ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม นิตยสารไทม์ฉบับเมื่อเร็วๆ นี้ได้นำเอาปัญหาเรื่อง การค้าประเวณี และการละเมิดสิทธิเด็ก ขึ้นหน้าปก และได้รายงานว่า มีผู้หญิงและเด็กอย่างน้อย 30 ล้านได้ถูกขายตัวไปอยู่ ในวงการเพศพาณิชย์ นี้เป็นแค่ส่วนเล็กน้อย ของวิกฤตการณ์ทางศีลธรรม อันมีสาเหตุมาจากอารยธรรมปัจจุบัน ของมนุษยชาติ
การพัฒนาด้านจิตวิญญาณของสังคมไทยวิกฤตการณ์ทางจิตวิญญาณ คือรากเหง้าแห่งปัญหาความเจ็บป่วยที่ปรากฎออกมาเหล่านี้ ขณะที่ทรัพยากรทางจิตวิญญาณ าได้มีอยู่จำกัดไม่ เราสามารถแสวงหาความสุขได้ และจะยิ่งได้รับความสุขในระดับที่สูงขึ้นและลึกซึ้งยิ่งขึ้น หากมีการบริโภคทางวัตถุแต่น้อยเป็นที่ชัดเจนว่า มิติด้านวัตถุและจิตวิญญาณไม่อาจแยกขาดจากกันได้และการผสมผสานกันในระดับสัดส่วนที่พอเหมาะ การแสวงหาความสุขด้านวัตถุโดยละเลยความสุขทางจิตวิญญาณ จะนำไปสู่ความต้องการการตอบสนอง ทางวัตถุอันไม่มีที่สิ้นสุด เพราะความพอใจต่อการสนองความต้องการทางวัตถุในระดับหนึ่งจะอิ่มตัวอย่างรวดเร็วและจะเป็นต้นตอของความอยากยิ่งขึ้นไปอีก ในทางตรงกันข้าม ความสุขทางจิตวิญญาณจะทำให้ความต้องการทางวัตถุลดน้อยลง คงไม่ต้องสงสัยว่าความคิดทางจิตวิญญาณเป็นสิ่งที่จะสามารถเยียวยาวิกฤตการณ์ทางสังคมได้ คำถามอยู่ที่ว่าจะทำได้อย่างไร? เมื่อพิจารณาถึงปรากฏการณ์ที่กำลังปรากฎอยู่ในเวลานี้พระพุทธศาสนาเรียกอีกอย่างได้ว่าเป็น "มัชเฌนธรรม" เพราะทั้งไม่อยู่ข้าง อัตตกิลมถานุโยค หรือการทรมานตนเองด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งรวมทั้งการบริโภคน้อยเกินไปหรือไม่อยู่ข้าง กามสุขัลลิกานุโยค หรือการเสพติดสุขทางเนื้อหนัง ที่ชัดเจนอย่างยิ่งก็คือ พระพุทธศาสนาเน้นการพัฒนาด้านจิตวิญญาณแต่เมื่อพระพุทธศาสนาไม่มีความเชื่อเรื่องพระ เจ้าแล้วจิตวิญญาณของพระพุทธศาสนาคืออะไร? ความเป็นอิสระจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนเป็นอุดมคติของพระพุทธศาสนา นิพพานหรือภาวะการดับสิ้นโลภะโทสะและโมหะเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา การพัฒนาทางจิตวิญญาณทีละน้อยในทุกระดับ ไม่ว่าเร็วหรือช้าก็เป็นการสร้างพลังความเข้มแข็งได้เสมอความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณสัมพันธ์กับการลดลงหรือหมดสิ้นไปแห่งทุกข์และมีความสุขเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นความสุขนั้นเกิดขึ้นจากความหายไปของความเห็นแก่ตัว และความยึดมั่นถือมั่นในตัวอันจะช่วยเอื้ออำนวยผลดีแก่บุคคลอื่นๆ ด้วยเช่นกันความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณเกิดขึ้นได้จากบุญกิริยาวัตถุ 3 ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติสำหรับฆราวาส อันประกอบด้วย ทานมัย (การให้) สีลมัย การประพฤติตามหลักธรรม) และภาวนามัย (การพัฒนาทางจิตใจ, สัมมาสมาธิ)
อิทธิพลพระพุทธศาสนาต่อจิตวิญญาณสังคมไทย เนื่องจากประเทศไทย ก็ตกอยู่ในภายใต้อิทธิพลของวัตถุนิยม เมื่อจะพิจารณาถึงพระพุทธศาสนาและความคิดเรื่องจิตวิญญาณของสังคมไทยเราจำเป็นจะต้องมองย้อนไปที่ภูมิหลังสักเล็กน้อยประเทศไทยเป็นเมืองพุทธในทุกๆ ลักษณะ ทั้งในแง่รูปแบบและโครงสร้างในประเทศที่ค่อนข้างเล็กนี้ เรามีวัดอยู่มากกว่า ๓๐,๐๐๐ วัด มีพระมากกว่า ๒๕๐,๐๐๐ รูป สามเณร ๑๐๐,๐๐๐ รูป และกล่าวกันว่าร้อยละ ๙๐ ของประชากรนับถือศาสนาพุทธ นับแต่ยุคต้นๆ ประวัติศาสตร์ของประเทศ พระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ล้วนทรงเป็นพุทธมามกะ ก่อน กระบวนการทำให้ทันสมัย พระพุทธศาสนายังมีบทบาทสำคัญในสังคมไทย โครงสร้างทางสังคม ยังเป็นชุมชนเกษตรกรรมเสียเป็นส่วนมาก วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนทั้งในด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล วัฒนธรรมและความคิดทางจิตวิญญาณ สังคมเช่นนี้ สามารถดำรงอยู่ได้เอง เป็นระยะเวลายาวนานโดยไม่ต้องพึ่งพารัฐและรัฐบาล และรัฐเองก็ยังไม่ได้เป็นผู้กำหนดทิศทางนโยบายทางเศรษฐกิจให้ ชุมชนต่างๆ ก็ได้รับการช่วยเหลือจากพระพุทธศาสนาให้อยู่ใภาวะสมดุลได้มากบ้างน้อยบ้างตามสมควรถึงแม้ว่าฆราวาสชนจะไม่ค่อยมีการศึกษาคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งนัก พวกเขาก็ยังได้รับอิทธิพล ผ่านวัฒนธรรมทางวัตถุต่างๆ ที่เนื่องด้วยความคิดทางจิตวิญญาณ อันปรากฎอยู่ทุกๆ ที่ ทั้งที่เป็นวัด พระพุทธรูปและพระเจดีย์ การทำบุญตักบาตรทุกเช้าและประเพณีพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับพระสงฆ์และวัดในชีวิตประจำวันล้วนมีความหมายในด้านการยกระดับทางจิตวิญญาณ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การปฏิบัติสัมมาสมาธิได้ช่วยให้ปัจเจกบุคคลหลุดพ้นมามากแล้วและพวกเขาก็ได้บรรลุซึ่งอุดมคติสูงสุดของพระพุทธศาสนาในด้านจิตวิญญาณพระพุทธศาสนาที่เข้มข้นรวมทั้งวัฒนธรรมท้องถิ่นได้มีอิทธิพลต่อการก่อร่างบุคลิกของคนไทย
แม้ว่าบุคลิกภาพของคนไทยจะมีลักษณะผสมผสาน แต่ในบางลักษณะก็อาจคุยได้เป็นบุคลิกภาพที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ บุคลิกภาพของคนไทย โดยทั่วๆ ไปจะประกอบด้วยความเมตตา ความเป็นมิตร และความไม่ยึดติดหรือความปรับตัวยืดหยุ่น ไม่เคยเลยที่คนไทยจะถูกมองว่า เป็นพวกมีความคิดแบบแยกพรรคแยกพวก ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เกียรติศัพท์เรื่องการมีไมตรีจิตมิตรภาพและความเปิดเผยในด้านวัฒนธรรมก็เป็นที่รู้จักกันดีของคนทั่วไป ศาสนาอื่นๆ เช่นศาสนาฮินดู อิสลามซิกซ์และ คริสต์ ซึ่งถึงแม้จะมีความขัดแย้งที่ต้องเผชิญในการเผยแพร่ทั่วไปในที่พุทธมามกะได้ทรงดำรงพระองค์ในฐานะเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกส่งเสริมให้คนจากลักทธิศาสนาต่างๆ กันสามารถอยู่ร่วมกันโดยสันติในสังคมไทยประเทศไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์สำคัญ ๒ ประการ ซึ่งไม่ใช่เป็นเพราะโชคช่วย หากเป็นเพราะคุณูปการ จากบุคลิกภาพของคนไทยที่ได้รับอิทธิพล มาจากความคิดทางจิตวิญญาณของพระพุทธศาสนาประการแรก คือ ลัทธิล่าอาณานิคมของตะวันตก ซึ่งได้ครอบงำประเทศเพื่อนบ้าน ทุกประเทศ ยกเว้นประเทศไทย ประการต่อมา คือ การแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้ ตามทฤษฎีโดมิโน ประเทศไทย ไม่น่าจะรอดพ้น ไปได้แต่เรา ก็สามารถผ่านพ้นมาได้และทำได้ อย่างงดงามด้วย อดีตพลพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นจำนวนมากหรือโดยทางปฏิบัติ แทบจะทั้งหมด ล้วนได้รับการยอมรับ กลับเข้าสู่สังคม และดำรงชีวิตอย่างมีเกียรติ บางท่านก็เป็นนักวิชาการ และท่านอื่นๆ ประสบความสำเร็จในภาคธุรกิจ บางทีสิ่งนี้อาจไม่เกิดขึ้นในประเทศอื่นนอกจากประเทศไทยความปรับตัวยืดหยุ่นซึ่งได้รับ อิทธิพล จากความคิดทางจิตวิญญาณของพระพุทธศาสนา จะต้องมีสำคัญในผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนี้
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมกับผลกระทบต่อจิตวิญญาณสังคมไทยประเทศไทยกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กระบวนการทำให้ทันสมัยส่งผลให้ช่องว่างทางสังคมแผ่กว้าง ออกไปทุกขณะ สังคมชนบทกำลังล่มสลาย ขณะที่ในเมืองเกิดการกระจุกตัว เกิดอาชญากรรม การฉ้อราษฎร์บังหลวง การ ค้าประเวณี การละเมิดสิทธิเด็ก โรคเอดส์ วิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อม ทำไมพระพุทธูศาสนาไทยและความคิดทางจิต วิญญาณจึงไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์ทางศีลธรรมได้ล่ะ ? การเข้ามาของลัทธิวัตถุนิยมที่ท่วมทันโลก ได้มี พลังอย่างรุนแรงและเป็นไปอย่างค่อนข้างฉับพลัน ส่งผลไปในทางปฏิบัติ จนไม่มีสังคมใดจะสามารถต้านทานมันได้ ปัจจัยภายในที่สำคัญที่สุด ซึ่งได้ทำให้ขึดความสามารถในการจัดการกับปัญหาของพระพุทธศาสนาเถรวาทไทยลดลง คือ การขาดการเรียนรู้อย่างเหมาะสม เรามีบทเรียนทางประวัติศาสตร์ หลายครั้งแล้วว่า ปัจเจกบุคคลหรืออารยธรรมใดที่ขาด ความสามารถในการเรียนรู้ย่อมจะเสื่อมสลายไปพระพุทธศาสนาผ่านทางจารีตประเพณี ซึ่งนั่นอาจจะเพียงพอสำหรับสถาน การณ์ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราจำต้องมีการเรียนรู้ที่เหมาะสมด้วย ภายหลังจากรัฐได้แยกการศึกษาออกจากวัด (Secularization) เมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีที่แล้ว ทั้งระบบปริยัติศึกษาและ การศึกษาในระบบโรงเรียนได้กลับกลายเป็นปัญหาขึ้นมา การศึกษาของคณะสงฆ์จะเน้นที่การแปลคัมภีร์ภาษาบาลีเป็น หลักโดยละเลยที่จะศึกษาให้เกิดความเข้าใจในหลักธรรมและการนำไปประยุกต์ใช้ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การศึกษาในระบบโรงเรียนได้ละเลยการทำความเข้าใจและความซาบซึ้งในแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาไปมาก ความอ่อนแอในกระบวนการเรียนรู้เหล่านี้ได้ส่งผลให้จิตวิญญาณของพุทธศาสนิกในสังคมไทยลดน้อยลง
กระแสการพัฒนาด้านจิตวิญญาณในอนาคต ในท่ามกลางความมืดมนก็พอมีแสงสว่างอยู่บ้าง ดังรายละเอีด ๕ ประการ ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ ๑. การอุบัติขึ้นของนักปราชญ์พุทธไทยสองท่าน ได้มีนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาองค์สำคัญยิ่ง เกิดขึ้นในสังคม ร่วมสมัย ๒ ท่านคือ ท่านแรก คือ ท่านพุทธทาสภิกขุ ท่านได้อธิบายคำสอน ทางพระพุทธศาสนา ขึ้นมาให้ด้วยปัญญาญาณ และความ กล้าหาญอันสูงส่ง บทบาทของท่านมีความสำคัญเทียบเท่า หรือจะมากกว่าบทบาทของพระพุทธโฆษาจารย์นักปราชญ์ชาว อินเดียผู้มีชื่อเสียงเมื่อพันปีที่แล้ว อีกท่านหนึ่งคือ พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต) ผู้ซึ่งได้จัดแจงเรียบเรียงหลักพุทธธรรมอย่างเป็นระบบ ใน ลักษณะที่คนร่วมสมัยจะเข้าใจได้ง่าย ผลงานของปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสองท่านได้กระตุ้นให้เกิดกระแสการเรียนรู้มากขึ้น ทั้ง ในระดับท้องถิ่นและนานาชาติ
๒. ความสนใจในการปฏิบัติสมาธิภาวนาแบบพุทธมีมากขึ้น สมาธิภาวนาเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่ง ใน การศึกษาพระพุทธศาสนาการศึกดษาแต่เพียงทฤษฎีอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการที่จะทำให้เกิดความเข้าใตและการพัฒนาได้ ขณะนี้มีแนวโน้มชัดเจนเกี่ยวกับความสนใจในการปฏิบัติสมาธิภาวนาแบบพุทธเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย ประกอบกับ การได้สมาคมกับศูนย์วิปัสสนาที่กำลังก่อตั้งขึ้นในยุโรป อเมริกาและออสเตรเลีย
๓. การนำหลังพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้ ในการฟื้นฟูพัฒนาชุมชน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการ ขจัดปัญหาทางสังคม และการทำลายสิ่งแวดล้อมในชนบทอันเป็นผลมาจาก การพัฒนาทางเศรษฐกิจ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา พระคุณเจ้าบางรูป ผู้นำชุมชน องค์กรพัฒนเอกชนนักวิชาการและกระทั้งเจ้าหน้าที่ราชการได้ พยายามประยุกต์หลักพระพุทธศาสนาในการฟื้นฟูพัฒนาชนบทและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจนปรากฎผลดีหลายประการ หลักการนี้ประกอบด้วยการปฏิบัติธรรม การจัดตั้งองค์กรชุมชน การส่งเสริมเกษตรกรรมธรรมชาติ และการรักษาป่าชุมชน ทั้งหมดที่กล่าวมาเหล่านี้ได้นำไปสู่การกินอยู่ที่ดีขึ้นและการฟื้นคืนมาของวัฒนธรรมชุมชนและสภาพนิเวศวิทยา อาชญา กรรมไม่เกิดขึ้นและสันติสุขกลับคืนมา รูปแบบการฟื้นฟูพัฒนาชุมชนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยอาศัยหลักธรรมทาง พระพุทธศาสนานี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นการพัฒนาที่ผสมผสานองค์ประกอบที่เกี่ยวเนื่องกัน ๗ ประการ กล่าวคือ เศรษฐกิจ, จิตใจ, สังคม, การเมือง, วัฒนธรรม, สิ่งแวดล้อมและการศึกษา และกำลังมีการดำเนินการให้เกิดการโยงใยเป็น เครือข่ายและแพร่ขยายรูปแบบการพัฒนานี้ออกไปอีก๔. การศึกษาของพระสงฆ์ แม้ว่าจะช้าเกินไปสักหน่อย ความเข้าใจในความสำคัญเกี่ยวกับการปรับปรุงการศึกษา ของพระสงฆ์ได้มีมากขึ้นปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยสงฆ์ ๒ แห่งในกรุงเทพฯ คือ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตั้งอยู่ที่วัด มหาธาตุ และมหามกุฎราชวิทยาลัย ตั้งอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ปัจจุบันมหาวิทยาลัยของฆราวาสหลายแห่งมีการจัดการศึกษาพระพุทธศาสนาขึ้นเป็นการภายในและกำลังเตรียม โครงการวิจัยและโครงการบัณฑิตศึกษาในด้านพระพุทธศาสนาขึ้น และที่สวนโมกขพลารามของท่านพุทธทาสภิกขุกำลังมีการวางแผนการอบรมระยะยาวสำหรับการศึกษาพระพุทธศาสนาระดับนานาชาติอย่างเข้มข้น ซึ่งการวิจัยและการศึกษาที่มี คุณภาพเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาจะเป็นการส่งเสริมศักยภาพของพระพุทธศาสนาให้เข้มแข็งขึ้นการช่วยกู้สถานการณ์ของ โลกให้พ้นจากภาวะวิกฤตได้
๕. การยกระดับการศึกษาพระพุทธศาสนาให้เป็นสากล กิจกรรมระดับนานาชาติของการศึกษาพระพุทธศาสนาในแง่ที่เกี่ยวกับงานวิจัยทางวิชาการ การปฏิบัติสมาธิภาวนาและการพัฒนาชุมชนกำลังมีเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การแลกเปลี่ยนและการสร้างเครือข่ายระดับนานาชาติจะช่วยเปิดทัศนะของชาวพุทธเราให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มพูนศักยภาพของพระพุทธศาสนาในการเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือในวิกฤตการณ์ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับโลกศูนย์กลางการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจของโลก กำลังเคลื่อนผ่านน่านน้ำมหาสมุทรแปซิฟิก มาสู่ทวีปเอเซีย โดยประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนได้รับการคาดหมายว่า จะเป็นประเทศมหาอำนาจภายในศตวรรษหน้านี้ ดังนั้น จึงมีความพยายามร่วมมือกันที่จะผสมผสาน ญาณปัญญาแบบชาวเอเซียซึ่งมีรากฐานจากพระพุทธศาสนา ข้าสู่กระบวนการแห่งพัฒนาการ (ทางเศรษฐกิจ) เพื่อจะนำไปสู่ความยั่งยืนของโลก โดยไม่ทำให้เกิดภาวะวิกฤตดังเช่นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจอย่างที่แล้วๆ มา
โดยสรุปแล้ว วิกฤตการณ์โลกปัจจุบันเกิดจากการพัฒนาอย่างไม่สมดุลการพัฒนายังคงเน้นการเจริญเติบโนทางวัตถุมากเกินไปและได้ละเลยการพัฒนาด้านจิตวิญญาณไป พระพุทธศาสนาได้ชี้ให้เห็นถึงแหล่งความรู้ด้านจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง ึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อฟื้นฟูระบบการพัฒนาให้เกิดความสมดุลเพื่อเยียวยาวิกฤตการณ์ของโลกได้ประเทศไทยเองแม้จะประสบกับภาวะวิกฤตหลายครั้งเราก็ยังมีขุมความรู้ทางจิตวิญญาณ ตามหลักพระพุทธศาสนาที่มีศักยภาพ และจะนำมาใช้ได้ ซึ่งถ้าหากได้รับการเพิ่มพูนให้มีศักยภาพเข้มข้นและมีการนำไปใช้อย่างเหมาะสมแล้วก็จะสามารถช่วยหลีกเลี่ยงวิกฤตการณ์ของมนุษยชาติและสิ่งแวดล้อมได้